About

แหลมพรหมเทพ เค้าว่าหนึ่งในจุดชมพระอทิตย์ตกที่สวยที่สุด





หลายๆ คนบอกว่า ถ้ามาเที่ยวภูเก็ตแล้วมาไม่ถึงแหลมพรหมเทพก็เหมือนมาไม่ถึงภูเก็ต แม้ว่าที่เกาะภูเก็ตจะมีที่เที่ยวมากมาย ทั้งทะเล สายลม แสงแดด ศิลปะ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ภูเขา น้ำตก เรียกว่าครบสำหรับสถานที่ซักที่หนึ่ง ที่จะให้คุณท่องเที่ยวได้อย่างครบทุกรูปแบบ คราวนี้ผมก็เลยนำภาพแหลมพรหมเทพมาฝากกันซักภาพนะครับ ภาพนี้ผมบันทึกภาพด้วย Canon EOS 5D MKII Lens EF 16-35 f2.8L ด้วยเหตุที่ต้องการให้เห็นภาพมุมกว้าง จึงเลือกใช้เลนส์ช่วงังกล่าว เมื่อใส่กับ Body ขนาด Full Frame ก็จะได้มุมรับภาพเท่ากับเลนส์ 16mm แต่ถ้าใครเอาไปใช้ในกล้องตัวคูณ เช่น EOS 7D EOS 650D ก็ต้องคูณไปอีก 1.6 เท่า (Nikon คูณ 1.5) จากเลนส์ 16-35 ก็จะกลายเป็น 25.6-56mm ซึ่งก็จะกลายเป็นเลนส์ช่วงมุมกว้างธรรมดา ถึงช่วง Normal ซึ่งถ้าใครใช้กล้องตัวคูณอาจต้องหาเลนส์ช่วงมุมกว้างของกล้องตัวคูณมาใช้แทน เพื่อให้ได้มุมภาพที่กว้างเท่ากับ Full Frame เช่นเลนส์ Canon 10-22 หรือ Tokina 12-24 เป็นต้น

ผมไปเจอภาพๆ หนึ่งที่ไปรษณีย์ภูเก็ต เป็นแสตมป์เก่าภาพแหลมพรหมเทพ เป็นภาพที่ผมว่าเค้าน่่าจะยืนอยู่ที่เดียวกับผมเลย เอาเป็นว่าผมก๊อปมุมแสตมป์โบราณละกันครับ อิ อิ วันที่ผมไปถ่ายภาพถือว่าเป็นวันที่ลุ้นสุดตัวเหมือนกันครับ เพราะอีกวันก็คือันที่เดินทางกลับแล้ว แต่ตอนเช้าของวันถ่ายภาพกลายเป็นวันที่ฝนตก ฟ้าปิด พอช่วงบ่ายเมฆยังเยอะอยู่บ้าง ทำให้ผมไม่มั่นใจว่าจะได้ภาพแหลมพรหมเทพที่ดีพอปิดงานเรื่องภูเก็ตรึเปล่า ช่วงห้าโมงเย็นผมไปถึงที่แหลมพรหมเทพก่อนเวลาพระอาทิตย์ตกเกือบชั่วโมงครึ่ง เดินหามุมไปเรื่อยๆ เดินจนครบแทบทุกจุด สุดท้ายก็มาอยู่ในมุมด้านบนเหมือนเดิม เวลาผมเดินทางไปถ่ายภาพ ผมชอบเลือกมุมสูงเพราะส่วนมากภาพจากมุมสูงจะเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน แต่ก็ไม่จำกัดนะครับหลายๆ ภาพผมก็เลือกที่จะถ่ายภาพจากมุมต่ำแทบเรี่ยดินก็แล้วแต่มุมของแต่ละสถานที่ครับ

ช่วงพระอาทิตย์ใกล้ตก ผมสังเกตุเห็นลมบนค่อนข้างแรง ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่วันนี้อาจจะโชคดีที่จะได้เห็นแสงสุดท้ายของวัน ผมตั้งขาตั้งกล้องไว้ล่วงหน้า นั่งเล่นนอนเล่นรอเวลา แนะนำว่าขาตั้งกล้องสำหรับถ่ายภาพริมทะเล ริมน้ำตก หน้าผา ถ้าเรามีแรงก็ขอให้แบกตัวหนักๆ ไปหน่อยนะครับ เพราะลมที่แรงของสถานที่จะทำให้กล้องสั่นเล็กๆ ได้เสมอ หรือถ้าไม่งั้นก็เอากระเป๋ากล้อง หรืออะไรก็ได้ที่พอมีน้ำหนัก ห้อยไปกับขาตั้งกล้องเพื่อเพิ่มน้ำหนักได้ครับ

และแล้วช่วงเวลาที่รอคอยก็มาถึง แสงสุดท้ายส่องลอดเมฆมาให้ชื่นใจ แม้ว่าเวลาที่แสงงามๆ จะมีไม่นานนัก แต่ก็เพียงพอที่เราจะเก็บภาพไว้ตามความต้องการ ผมเลือกใช้รูรับแสงแคบมากคือ f16 เพื่อเก็บระยะชัดลึกให้ได้มากที่สุด และที่จะลืมไม่ได้คือฟิลเตอร์ Graduate ของ Lee ที่จะช่วยลดแสงท้องฟ้า ให้ใกล้เคียงกับพื้นทะเลด้านล่าง เราจะต้องคอยระวังเรื่องฟิลเตอร์ที่ทับซ้อนหน้าเลนส์ อาจทำให้เกิดแสงสะท้อน ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพของภาพลดลงอย่างมาก ถ้าเป็นไปได้ ผมแนะนำให้พยายามถือฟิลเตอร์ให้ชิดหน้าเลนส์มากที่สุด และถอดฟิลเตอร์ป้องกันหน้าเลนส์ออกด้วยนะครับเพื่อคุณภาพที่ดีขึ้น เอาเป็นว่าใครว่างๆ ก็ลองแวะไปถ่ายภาพดูนะครับ พอก่อนดีกว่า รู้สึกว่ายิ่งพิมพ์จะยิ่งเยอะแล้วล่ะครับ ไว้พบกันใหม่ครับ



เรื่อง / ภาพ : นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง

Read more

แสงยามเย็น กับทิวสน



        แสงช่วงก่อนพระอาทิตย์ตกดินในวันฟ้าใส จะสาดเฉียงมาจากแนวทะแยง ซึ่งเราสามารถเลือกให้ได้ภาพแนวย้อนแสง หรือจะสร้างมิติของภาพจากทิศทางแสงดังกล่าว อีกทั้งสีสันของแสงช่วงนี้ยังดูอบอุ่น ผมเลือกภาพนี้มาแนะนำสภาพของแสงในช่วงดังกล่าว อ้อ ที่สำคัญผมแนะนำให้ถ่ายภาพเป็นไฟล์ Raw มาก่อนนะครับ เผื่อใครอยากปรับแต่ง White Balance ทีหลังก็จะให้คุณภาพที่ดีกว่า แต่ถ้าใครไม่อยากเสียเวลาทีหลังก็เลือกใช้ White Balance แบบ Daylight หรือ Shade ก็จะช่วยให้สีสันดูอบอุ่นขึ้นได้ครับ

Read more

สัตว์ประเสริฐ-สัตว์เดียรัจฉาน



        โครงการคืนชะนีสู่ป่าที่จังหวัดภูเก็ต ผมมีโอกาสได้แวะไปดูโครงการของเค้าเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในหน้างานที่ผมต้องถ่ายภาพ และเขียนบทความลงในนิตยสารด้วย ต้องยอมรับว่าชะนีหลายๆ ตัวน่่าสงสารมาก ช่วงเด็กๆ ดูน่ารักคนก็นำไปเลี้ยง พอโตขึ้นก็ด้วยสัญชาติญาณของสัตว์ป่าที่ยังมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ไม่ได้ถูกสั่งสอนให้เป็นผู้ดีเหมือนคนนำไปเลี้ยง พวกมันจึงถึงขัง ถูกทารุณกรรม ตามร้านบ้างก็เอาไปไว้แสดงให้พวกนักท่องเที่ยวดู บางตัวถูกตัดมือ ตาบอด รอยแผลเป็นตามตัว ฯลฯ มากกว่าจินตนาการของผมได้ว่านี่หรือคือสัตว์ประเสริฐที่กระทำกับสิ่งมีชีวิตที่ตัวเองไปเรียกเค้าว่าสัตว์เดียรัจฉาน

        ผมเดินเก็บภาพไปเรื่อยๆ สิ่งที่ผมสังเกตุอีกอย่างหนึ่งคือ มีแต่คนต่างชาติที่แวะมาที่นี่ แต่คนไทยไม่มีเลย ตลอดเวลาครึ่งวันที่ผมอยู่ที่นั่น พวกเราลืมอะไรไปรึเปล่า 

ภาพนี้ผมเก็บภาพด้วย Canon 5D MKII Lens EF 70-200 f2.8 LIS ปรับเป็นขาวดำใน PS

โครงการคืนชะนีสู่ป่า
มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย
น้ำตกบางแป ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภุเก็ต 83110
โทร. 076-260 491-2
www.gibbonproject.org  /  www.warthai.org
Email : grp@gibbonprojec.org

Read more

GRP – The Gibbon Rehabilitation Project




        ก่อนการเดินทางลงจังหวัดภูเก็ตครั้งนี้ทางทีมงานได้หาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ เพื่อจะได้ลงไปเก็บงานให้ได้ครบตามที่ต้องการแต่กลับไม่มีโครงการคืนชะนีสู่ป่าเลยในข้อมูลที่ส่งมาซึ่งทาง Paszo’ ได้พยายามจะจัดให้มีบทความประจำด้านอนุรักษ์ จึงหาข้อมูลเพิ่มเติม เมื่อหลายปีมาแล้วได้ยินว่ามีการรณรงค์เกี่ยวกับการขึ้นมาวางไข่ของเต่ามะเฟือง บริเวณหาดไม้ขาว แต่จากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทำให้จำนวนเต่าลดลงจนแทบจะเรียกได้ว่าหมดไปจากหาดไม้ขาวแล้ว ผมเคยได้ฟังคุณพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ พูดติดตลกในคอนเสิร์ตหนึ่งว่า “ขอหาดไม้ขาวให้เต่ามะเฟืองน่ะได้ ขอหาดเขาเขาก็ให้ มีหาด แต่เต่าไม่มี” เป็นตลกเล็กๆ ที่ต้องเก็บมาคิด ถึงมาตรการแบบวัวหายแล้วค่อยล้อมคอก ซึ่งเรามักจะเห็นได้บ่อยครั้ง

        ผมมาเจอโครงการคืนชะนีสู่ป่าจากแผนที่ฉบับหนึ่ง ซึ่งทำให้ผมสนใจเป็นพิเศษ และได้ทำการติดต่อเพื่อเข้าไปเก็บข้อมูลสิ่งที่ผมได้สังเกตเห็นคือชะนีหลายตัวที่อยู่ในศูนย์ มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ทั้งโดนเลี้ยงแบบทารุณกรรม ตัดมือ ตัดเท้า หรือเมื่อโตแล้วก็ปล่อยทิ้ง เพราะไม่น่ารักเหมือนตอนเด็กๆ พอโตขึ้นในฤดูผสมพันธุ์ชะนีจะมีนิสัยดุร้ายขึ้นตามสัญชาตญาณ

        ผมได้แต่เดินมองไปตามมุมต่างๆ กับข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาที่เป็นภาษาอังกฤษทำให้ผมเอะใจว่าทำไมหาภาษาไทยแทบไม่ได้ แม้แต่คนที่เข้ามาที่ศูนย์ก็มีแต่ชาวต่างชาติ เป็นบทสะท้อนให้เราต้องหันมาตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ให้มากกว่านี้ ภูเก็ตไม่ได้มีแค่ทะเลให้เรามาฉวยเอาความสนุกสุขใจ พักผ่อนสบาย แล้วก็จากไป แต่ยังมีอีกหลายชีวิต ที่คอยให้เราหันกลับมามองถึงบ้านเดิมของเขาที่ถูกรุกรานจนแทบจะไม่มีพื้นที่ให้อยู่อาศัย แถมยังถูกล่าจนช่วงหนึ่งศูนย์พันธุ์ไปจากเกาะภูเก็ตแล้ว



โครงการคืนชะนีสู่ป่า
มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย

โครงการคืนชะนีสู่ป่าเป็นส่วนอนุรักษ์และศึกษาวิจัยของมูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ได้แก่ กลุ่มเอเชียไวด์ไลฟ์ฟันด์ คุณเทอร์เรนท์ ดิลลอน มอริน และคุณนภดล พฤกษะวัน หัวหน้าป่าไม้จังหวัดภูเก็ตในขณะนั้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ชะนีและผืนป่าอันเป็นถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ โดยการฟื้นฟูชะนีให้มีความพร้อมที่จะปล่อยคืนสู่ป่า รวมถึงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาเชิงอนุรักษ์แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวทั่วไป



สถานภาพของชะนี
        ชะนีอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้นพบเฉพาะในแถบเอเชียตะวันตกเฉียงใต้โดยจะอยู่เป็นครอบครัว แต่ละครอบครัวจะมีอาณาเขตเป็นของตน ซึ่งกว้างประมาณ 150 – 200 ไร่ การร้องของชะนีถือเป็นสื่อเตือนให้ไม่ให้ครอบครัวที่อยู่ข้างเคียงหากินบุกรุกเข้ามาในอาณาเขตของตน  อาหารหลักของชะนีคือผลไม้  ใบไม้  ดอกไม้ และแมลง ชะนีจะมีอายุยืนยาวกว่า 25 – 30 ปี จะอาศัยอยู่บนยอดไม้ในป่าชั่วชีวิต หากลงมาบนพื้นดินมักจะตกเป็นเหยื่อของเสือดาว เสือโคร่ง ซึ่งเป็นศัตรูตามธรรมชาติของชะนี  นอกจากนี้ยังมีงูเหลือมและนกอินทรีที่คอยล่าชะนีเป็นอาหาร  แต่ศัตรูที่น่ากลัวที่สุดและเป็นตัวการทำให้ชะนีสูญพันธ์ก็คือมนุษย์

กว่าจะได้ลูกชะนีแต่ละตัวมาวางขายพรานต้องฆ่าชะนีไปกี่สิบตัวครอบครัวจึงจะได้ลูกชะนีที่มีอวัยวะครบสมบูรณ์ (แม่ชะนีป่าหวงลูกน้อยกระโดดหนีตามเรือนยอดไม้ พรานต้องยิงให้โดนแม่ เมื่อแม่และลูกร่วงลงสู่พื้นจึงจะได้ลูกมาขาย กี่ครั้งที่กระสุนพลาดไปโดนลูก กี่ครั้งที่ร่วงลงมาจากต้นไม้สูง 30 – 40 เมตรแล้วตายทั้งลูกและแม่ และกี่ครั้งที่ทั้งแม่และลูกไม่ตายในทันที สามารถหนีรอด แต่ต้องไปตายทีหลังเพราะพิษบาดแผล) เมื่อชะนีย่างเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ตามอายุประมาณ 6 ปี เขี้ยวจะยาวและเริ่มดุร้ายตามสัญชาตญาณสัตว์ป่า สุดท้ายเจ้าของก็จะฆ่าหรือทอดทิ้งหรือผลักภาระมาให้มูลนิธิฯ หรือกรมป่าไม้

ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ (CITES) ชะนีจัดอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 หมายถึงห้ามค้าขายเด็ดขาดเนื่องจากใกล้สูญพันธุ์ แม้ว่าจะมีพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่งมีบทลงโทษบทผู้ครอบครอง ล่าหรือค้าสัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต จะต้องระวางโทษทั้งจำทั้งปรับแต่กระนั้นก็ยังมีการฝ่าฝืนกันมาตลอด

        การฟื้นฟูชะนี เมื่อชะนีมาถึงโครงการฯ จะได้รับการตรวจสุขภาพ ชะนีที่มีความเหมาะสมก็จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูต่อไป  โดยการให้อยู่ในสภาพใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุด ซึ่งจะช่วยให้เกิดความคุ้นเคยหรือได้เรียนรู้วิธีการดำรงชีวิตในธรรมชาติอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ฝึกฝนการปีนป่ายห้อยโหนโยนตัวบนกิ่งไม้ ซึ่งจะทำให้ชะนีแข็งแรงสามารถเคลื่อนที่บนต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว ให้อาหารตามธรรมชาติและพยายามให้ติดต่อหรือเกี่ยวข้องกับมนุษย์น้อยที่สุดชะนีบางส่วนไม่มีความเหมาะสมที่จะปล่อย เนื่องจากเป็นโรคร่างกายพิการหรือมีปัญหาอื่นๆ ซึ่งเป็นภาระใหญ่หลวงที่ต้องเลี้ยงดูไปตลอดชีวิต

        ปัจจุบันเงินทุนในการดำเนินงานได้มาจากการบริจาคจากนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมการทำงานที่น้ำตกบางแป และกล่องรับบริจาคตามสถานที่ต่างๆ รวมทั้งความช่วยเหลือจากบรรดาอาสาสมัครทั้งชาวไทยและต่างชาติ หากท่านมีความประสงค์ที่จะสนับสนุนโครงการฯ ทั้งในด้านการเงินหรือสิ่งของต่างๆ ติอต่อได้ที่



โครงการคืนชะนีสู่ป่า
มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย
น้ำตกบางแป ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภุเก็ต 83110
โทร. 076-260 491-2
www.gibbonproject.org  /  www.warthai.org
Email : grp@gibbonprojec.org


เรื่อง กองบรรณาธิการ
ภาพ นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง

Read more

ซอยรมณีย์ ปัจจุบันที่อดีตอยากลืมเลือน



เคยอ่านหนังสือเล่มไหนฉันเองก็จำไม่ได้ เค้าบอกว่าอาชีพแรกที่เกิดขึ้นในโลกคืออาชีพโสเภณี ฟังแล้วก็พาลให้คิดไปถึงชีวิตยามค่ำคืนที่เต็มไปด้วยสาวๆ ยืนกันเต็มริมฟุตบาทในบางถนนของบางเมืองที่ฉันขับรถผ่าน ทำให้นึกถึงก่อนที่ฉันจะเดินทางมาภูเก็ต ข้อมูลต่างๆ มากมายที่หลั่งไหลมาจากหลายที่ ทั้งเรื่องราวเก่าแก่ ตำนาน ฯลฯ ชื่อของซอยรมณีย์ก็อยู่ในหัวข้อที่น่าสนใจด้วย เพราะเป็นซอยที่สวย และมีประวัติความเป็นมาที่แปลกไปจากถนนเส้นอื่นๆ ในภูเก็ต

“หั่งอาหล่าย” คือ ชื่อดั้งเดิมของซอยรมณีย์ เปล่งเสียงตามสําเนียงชาวจีนฮกเกี้ยน ส่วนสําเนียงจีนกลางก็ว่า ฮ่างจื่อเน่ย ต่อมาในสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)  ท่านมาเป็นสมุหเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ต ประมาณปี 2445  ซึ่งเป็นยุคที่การทำเหมืองแร่กำลังรุ่งเรือง ประชากรอันเนื่องมาจากแรงงานชายในการทำเหมืองมีจำนวนมาก จึงมีโสเภณีจากญี่ปุ่น มลายูมาเก๊า ได้เข้าไปทำมาหากินในเมืองภูเก็ต พระยารัษฎาฯ จึงจัดระเบียบให้ผู้หญิงนั้นอยู่ในบริเวณเดียวกันแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “ซอยรมณีย์” ที่แปลว่า น่ารัก น่ายินดี น่าสนุก น่าสบาย เพื่อสะดวกในการควบคุมนั่นเอง


แต่วันนี้ที่ซอยรมณีย์กลางเมืองภูเก็ตกลับสงบเงียบ สวยงามไปด้วยสถาปัตยกรรมโบราณ จะมีบ้างบางแห่งที่ปรับสีสันให้สวยงาม ทั้งห้องพักกิ๊บเก๋ หรือร้านกาแฟน่านั่ง ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าของถนนเส้นนี้จืดจางไปเลย ฉันเดินเล่นไปมาทั้งกลางวัน กลางคืน ได้แต่นึกถึงการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีสำหรับถนนแห่งยุคสมัยเส้นนี้

เรื่อง  กองบรรณาธิการ
ภาพ  นันทพัฒน์  สุรสิงห์โตทอง

Read more

"พระผุด" ตำนานอัศจรรย์ที่วัดพระทอง




        “การก่อพระพุทธรูปสวมพระผุดนี้ก่อด้วยอิฐถือปูนมีแต่เศียรกับพระองค์เพียงเท่าทรวงเพื่อให้ดูเหมือนผุดขึ้นมาจากพื้นดิน ฝีไม้ลายมือทำก็กระนั้นแหละ แต่ต้องชมว่าเขากล้า มีคนน้อยคนที่จะกล้าทำพระครึ่งองค์เช่นนี้ เพราะฉะนั้นก็จะต้องยอมรับว่าเป็นของควรดูอย่างหนึ่ง”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)

        ภาพของพระพุทธรูปองค์ขนาดใหญ่ ที่ผุดขึ้นมาจากพื้นดิน ณ วัดพระทอง ในอำเภอถลาง วัดเก่าเเก่ประจำจังหวัดภูเก็ต ถือเป็นอีกหนึ่งของ Unseen Thailand ซึ่งมาพร้อมตำนานอันน่าสนใจเกี่ยวกับความมหัศจรรย์ เล่ากันมาว่า

        เมื่อแรกที่พบ “หลวงพ่อพระผุด” ณ เวลานั้นได้เกิดพายุฝนตกจนน้ำไหลท่วมทุ่งนาเสียหาย พัดพาต้นไม้โค่นล้ม พอฝนหยุดตกเด็กชายลูกชาวนาคนหนึ่งจูงควายไปเลี้ยงกลางทุ่ง แต่หากิ่งไม้ไม่เจอ เพราะต้องการหาที่ผูกเชือกสำหรับเลี้ยงควาย กิ่งไม้เล็กๆ ที่เคยผูกก็ถูกกระแสน้ำพัดพาไปหมด สักพักเขาเห็นสิ่งแปลกประหลาดสิ่งหนึ่ง มีโคลนตมพอกอยู่ มีลักษณะเหมือนตอไม้ขนาดใหญ่ผุดขึ้นมาจากดิน เลยนำเชือกคล้องควายไปผูกไว้แล้วก็กลับมาบ้าน

        พอถึงบ้านเด็กชายคนนั้นก็เป็นลมล้มชักเสียชีวิตลงทันที ในตอนเช้าวันนั้นเอง พ่อแม่ก็จัดการกับศพเด็กแล้วออกไปดูควายที่ผูกไว้ พอไปถึงที่ก็เห็นควายนอนตายอยู่เป็นที่อัศจรรย์ และเมื่อเดินไปดูใกล้ๆ ก็เห็นเป็นวัตถุอย่างหนึ่ง พวกเขาเกิดความรู้สึกกลัวรีบตัดเชือกผูกควายออกแล้วช่วยกันนำควายไปฝัง ตกดึกพ่อของเด็กที่ตายก็ฝัน ว่ามีคนมาบอกว่า ที่เด็กและควายต้องตายนั้นเป็นเพราะเด็กได้นำเชือกควายไปผูกไว้กับเกศพระพุทธรูป พอตื่นรุ่งเช้าก็ชวนเพื่อนบ้านให้ไปดู เมื่อเห็นวัตถุประหลาดนั้น ต่างคนต่างก็เอาน้ำมาล้างขัดสีเอาโคลนตมที่ติดอยู่ออกจนหมด จนกระทั่งสามารถ เห็นเป็นลักษณะเหมือนเกศพระพุทธรูปเหลืองอร่ามเป็นทองคำ ชาวบ้านจึงแตกตื่นพากันมา การบไหว้บูชาสักการะกันเป็นจำนวนมาก และยังชักชวนกันไปบอกให้เจ้าเมืองทรงทราบ

        เจ้าเมืองถลางสมัยนั้นอยู่ที่บ้านดอนซึ่งห่างกันประมาณ 3 กิโลเมตร เมื่อเจ้าเมืองทราบ ก็รับสั่งให้ทำการขุดมาประดิษฐานบนดินแต่ขุดอย่างไรก็ไม่สามารถขุดได้เพราะมีเหตุมหัศจรรย์เกิดขึ้นด้วยปรากฏว่ามีตัวต่อตัวแตนจำนวนมาก บินขึ้นมาจากใต้พื้นดินไล่ต่อยผู้คนที่ขุด และยังต่อยแต่เฉพาะคนที่ขุดเท่านั้น ส่วนพวกที่ไม่ได้ขุด เพียงแต่เอาดอกไม้ธูปเทียนไปไหว้ ลูบคลำเกศพระผุด ตัวต่อแตนก็จะไม่ทำอันตรายเลยต่อมาได้มีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาจากสุโขทัย ท่านได้เห็นหลวงพ่อพระผุด ท่านเกรงว่าหากพวกโจรเห็นแล้วจะตัดไปขายเสีย ท่านจึงคิดว่าควรจะสร้างวัดที่นี่ เพื่อเป็นการรักษาพระพุทธรูปองค์นั้นเอาไว้ วัดพระทองแห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้นในสมัยดังกล่าวโดยมี “หลวงพ่อสิงห์” เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ท่านได้ชักชวนชาวบ้านให้ช่วยกันสร้างกุฏิ วิหาร และสร้างอุโบสถโดยมีหลวงพ่อพระผุดเป็นประธานในพระอุโบสถแล้วก่อให้สูงขึ้น



        วัดนี้เมื่อสร้างเสร็จชาวบ้านเรียกว่าวัดนาใน วัดพระผุด หรือวัดพระหล่อคอ เมื่อสร้างวัดแห่งนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว พระธุดงค์รูปนั้นได้ผูกปริศนาลายแทงไว้ดังนี้ "ยัก 3 ยัก 4 หาบผี มาเผา ผีไม่ทันเน่าหอมฟุ้งตลบ ผู้ใดคิดลบ ให้เอาที่กบปากแดง" ปริศนานี้เจ้าอาวาสต้องแก้ให้ได้ ถ้าแก้ไม่ได้ จะอยู่วัดได้ไม่นาน แต่ไม่มีใครแก้ได้ในที่สุดวัดแห่งนี้ก็ร้างลง จนเลื่องลือกันว่า "วัดพระผุดกินสมภาร"

        อีกตำนานหนึ่ง บันทึกไว้ว่าพม่ายกทัพมาตีเมืองถลาง เมื่อปี พ.ศ. 2352 ได้พยายามขุดดินลงไปเพื่อหวังจะเอาพระผุดกลับไปพม่า แต่ขุดลงไปเจอมด ตัวต่อ แตน ขบกัด เอาไฟเผาดินร้อนขุดไม่ได้ พอดีทหารไทยยกทัพมาช่วย พม่าจึงหนีไป
       
        เวลาผ่านไปอีกเนิ่นนานจนสิ่งก่อสร้างในวัดผุพังรกร้างเหลือแต่พระผุดที่พอกปูนไว้ เมื่อถึงปี พ.ศ. 2440 พระครูจิตถารสมณวัตร์ (หลวงพ่อฝรั่ง) แห่งวัดพระนางสร้าง ท่านสามารถแก้ปริศนาได้จึงบูรณะวัดพระผุดขึ้นมา โดยได้เป็นเจ้าอาวาส จำพรรษาอยู่ถึง 61พรรษา
   
        มาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พระองค์ท่านได้เสด็จประพาสจังหวัด ภูเก็ตและได้เสด็จมาทอดพระเนตรพระผุดองค์นี้พระองค์ทรงมีพระราชวิจารณ์ไว้ว่า “การก่อพระพุทธรูปสวมพระผุดนี้ก่อด้วยอิฐถือปูนมีแต่เศียรกับพระองค์เพียงเท่าทรวงเพื่อให้ดูเหมือนผุดขึ้นมาจากพื้นดิน ฝีไม้ลายมือทำก็กระนั้นแหละ แต่ต้องชมว่าเขากล้า มีคนน้อยคนที่จะกล้าทำพระครึ่งองค์เช่นนี้ เพราะฉะนั้นก็จะต้องยอมรับว่าเป็นของควรดูอย่างหนึ่ง”

        จากนั้นรัชกาลที่ 6 ก็ได้พระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า “วัดพระทอง”

        หากแต่อีกความเชื่อหนึ่งของพี่น้องชาวจีนเชื่อว่าพระผุดถูกอันเชิญมาจากเมืองจีนเรียกว่า “พู่ฮุก” เล่าว่าธิเบตไปรุกรานจีนในเมืองเซี่ยงไฮ้ มีพระพุทธรูปทองคำ ชื่อ กิ้มมิ่นจ้อ ชาวธิเบตนำลงเรือมา แต่ถูกมรสุมจนเกยตื้น พระพุทธรูปองค์นั้นจมลงจนมีผู้คนมาพบในปัจจุบันท่าน ที่วัดแห่งนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ ที่ทางวัดจัดสร้างไว้ โดยรวบรวม วัตถุสิ่งของที่มีค่าทางประวัติศาสตร์ไว้มากมาย บอกถึงวิถีชีวิตของชาวภูเก็ตสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี

ขอขอบคุณ : นิตยสารภูเก็ตบูลเลทิน




เรื่อง กองบรรณาธิการ Paszo' magazine Chiang mai
ภาพ นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง

Read more

ปาล์มหลังขาว - เขาพระแทว




        ในเขตพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นเกาะที่ถูกล้อมรอบด้วยทะเล เรื่องของแหล่งน้ำจืดถือว่า เป็นหัวใจสำคัญสำหรับการอยู่อาศัย โดยเฉพาะเกาะที่มีความเจริญมากอย่างเกาะภูเก็ตที่มีทั้งโรงแรมจำนวนมาก ผู้คน และนักท่องเที่ยวที่พากันหลั่งไหลมาไม่ขาดสายแต่ใครจะรู้ว่าบนเกาะแห่งนี้มีพื้นที่สีเขียวที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งเป็นแหล่งน้ำจืดที่สำคัญ และยังมีปาล์มหลังขาวพันธุ์พืชที่พบได้ที่นี่แห่งเดียวในโลกอีกด้วย นั่นก็คือเขาพระแทวผืนป่าสีเขียวที่ถูกลืมจากนักท่องเที่ยว

        สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าเขาพระแทว
        เขาพระแทวตั้งอยู่ในพื้นที่เขตร้อน มีพืชขึ้นหนาแน่น ซึ่งจะพบอยู่ทางใต้ของประเทศไทย อย่างไรก็ตามพืชส่วนใหญ่ได้ถูกจำกัดขอบเขต ถ้าไม่ถูกการทำลายหรือรบกวนจากมนุษย์เสียก่อน บางพื้นที่ถูกแทนที่ด้วยพืชเขตร้อนในหลายทวีป มีดินที่เป็นลักษณะสีน้ำตาลเหลือง หรือ เกิดจากการย่อยสลายของหินแกรนิต เป็นบริเวณที่มีการกระจายน้ำฝนอย่างพอเพียง เราสามารถมองเห็นความสมดุลระหว่างการสลัดใบในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงพร้อมกัน แนวโน้มสำหรับสภาพอากาศที่ชื้น จะไม่พบในเขตอากาศร้อนแบบนี้มากนัก เพราะเป็นเขตที่มีฤดูแล้งยาวนาน  ที่โดดเด่นที่สุดของเขาพระแทวคือ ต้นปาล์ม ซึ่งเป็นปาล์มสกุลใหม่ของโลก (new genus) และได้ตั้งชื่อว่า Kerriodoxa นับเป็นปาล์มที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะมีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติดั้งเดิมเพียงที่เขาพระแทวแห่งเดียวในเมืองไทย และเป็นแห่งเดียวในโลกที่ยังคงแพร่พันธุ์อยู่ตามธรรมชาติ
        ส่วนสำคัญของเขาพระแทว จะเป็นป่าดงดิบชื้น ที่มีต้นไม้เขียวชอุ่มและความหลากหลายของพืชและสัตว์ป่ามากมาย พืชที่เกิดขึ้นมากที่สุดในเขาพระแทว เช่น ยางนา ไม้ตะเคียนทอง หลุมพอ และไม้พุ่มเล็กอื่นๆ ที่ยังอยู่ในระดับล่างของป่าดิบชื้นแห่งนี้ ได้แก่ ปาล์ม หวาย ไผ่ กล้วยไม้ เฟิร์นและมอส ซึ่งบางทีพบตามลำต้นไม้ต่างๆ ป่าแห่งนี้ ยังเป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำหลายสายในพื้นที่ เป็นศูนย์กลางของระบบนิเวศน์ที่หลากหลายชนิดมากที่สุดในโลก ดังนั้นบางครั้ง ก็มีการสูญเสียจากการทำลายป่าดิบชื้นแห่งนี้ที่กำลังเติบโตเช่นเดียวกัน เพียงแต่มนุษย์ต้องเปิดใจให้กว้างมองเห็นคุณค่าและความงามของผืนป่าแห่งนี้ ก็จะทำให้สิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะได้ดำรงอยู่ต่อไปตามความสมดุลของธรรมชาติ



        ในช่วงระหว่างการเดินทางตามป่าเขาพระแทว คุณจะพบเห็นนกหลายชนิดตามต้นไม้หรือบนพื้นดิน บริเวณนี้จะพบนกอยู่สองประเภทคือ นกท้องถิ่นและนกอพยพ คนทั่วไปจะพบรังเพื่อวางไข่ของนกตลอดทุกปี ประเภทของนกเหล่านี้ จะรวมไปถึง นกที่มาจากเอเชีย อย่างเช่น นกเขียวก้านตองใหญ่ นกบั้งรอกปากแดง นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ เหยี่ยวแดง เป็นต้น ส่วนนกอพยพ อย่างเช่น นกเด้าลม นกแต้วแล้ว นกเขนน้อยไซบีเรีย นกกลุ่มนี้จะไม่สร้างรังบริเวณนี้ และจะพบเจอได้ระหว่างช่วงเดือนตุลาคม - มีนาคม การสังเกตและส่องนกในธรรมชาติ จะเป็นที่นิยมสำหรับนักดูนกเป็นอย่างมาก แต่นกยังเป็นสิ่งที่สำคัญในการกระจายเมล็ดพันธุ์พืชที่จะเพิ่มความหลากหลายให้กับระบบนิเวศน์ ต้นไม้เลื้อยจะพบเห็นได้ตามป่าดงดิบ ยิ่งไม้เลื้อยขนาดใหญ่ จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของป่าดงดิบชื้นไปทันที การเข้าถึงของแสงแดดน้อยเพราะส่วนมากเป็นต้นไม้ที่แย่งการขึ้นอย่างหนาแน่น จึงทำให้บริเวณนี้เห็นแสงสว่างน้อย การเจิรญเติมโตของต้นไม้ต้องลงทุนใช้พลังงานจากพืชบางชนิดมาช่วยการสนับสนุนการเจริญเติบโต และทำให้การปรับตัวของพืชมีผลไปตามพืชชนิดอื่นๆ ด้วย

        สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าเขาพระแทว ตั้งอยู่ในทางตอนใต้ของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพระแทว และอยู่ทางตะวันตกของ น้ำตกโตนไทร เพื่อให้สำหรับนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ที่มีความสนใจเข้ามาทัศนศึกษาดูงาน สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า จัดตั้งขึ้นโดยเขาพระแทว เป็นเขตสำหรับห้ามล่าสัตว์ โดยทำหน้าที่ส่งเสริมเผยแพร่และ ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่าตลอดจน สิ่งแวดล้อมต่างๆ นอกจากนั้น ยังมีน้ำตกโตนไทร แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุด ซึ่งเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยม ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจมากมาย จะมีกลุ่มผู้คนประมาณ 20-50 คนเข้าชมทุกสัปดาห์ ส่วนใหญ่จะเป็นตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา บางครั้งจะมีกลุ่มนักศึกษาเข้าชมต้นไทร ผู้เข้าชมจะได้รับการบรรยายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าไม้และลักษณะทั่วไปของป่าเขาพระแทว จะมีเส้นทางเดินเท้าเพื่อศึกษาธรรมชาติ ซึ่งสามารถขอคำแนะนำได้จากเจ้าหน้าที่สถานีย่อยได้ มีห้องพักสำหรับผู้เข้าชม สามารถสำรองที่พักได้ตลอดปี
ปาล์มหลังขาว (ปาล์มเจ้าเมืองถลาง)

        เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) ดร.เอเอฟจี เดออร์ นายแพทย์ชาวไอร์แลนด์และนักพฤกษศาสตร์ ได้เดินทางมาสำรวจพรรณพฤกษชาติป่าเทือกเขาพระแทว ได้เก็บตัวอย่างพันธุ์ไม้แห้ง (herbarium specimen) ของปาล์มพันธุ์ใหม่ชนิดหนึ่งบริเวณฝั่งลำธาร แต่ยังไม่สามารถจำแนกชื่อและสกุลได้ จึงได้นำตัวอย่างแห้งของปาล์มนี้ไปเก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์ KEW กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ


         ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งอุทยานสัตว์ป่าเขาพระแทว เมื่อปี พ.ศ. 2520 (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าเขาพระแทว) ศาสตราจารย์ ดร. เต็ม สมิตินันทน์ ผู้เชี่ยวชาญพฤกษศาสตร์ป่าไม้ และนายจรัล บุญแนบ หัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง จังหวัดตรัง ได้กล่าวถึงปาล์มที่มีลักษณะเด่นพันธุ์นี้แก่ ดร.จอนน์ แดรนฟิลล์ นักพฤกษศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญพันธุ์ไม้วงศ์ปาล์ม ก็พบว่าเป็นปาล์มสกุลใหม่ของโลก จึงได้ตีพิมพ์ในวารสารพฤกษศาสตร์ PRINCIPES เล่ม 27 ปี ค.ศ. 1983 ตั้งชื่อสกุล Kerriodoxa เพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.เอเอฟจี เดออร์ นักพฤกษศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงผู้ริเริ่มงานศึกษาพรรณพฤกษชาติของไทย ระหว่างปี ค.ศ. 2445-2475 มีพันธุ์ไม้เพียงชนิดเดียว ได้แก่ Kerriodoxa elegans Dransfield เรียกชื่อสามัญว่า ปาล์มหลังขาว, ทังหลังขาว หรือ ปาล์มเจ้าเมืองถลาง


        ปาล์มหลังขาวจึงจัดได้ว่าเป็นพันธุ์ไม้ถิ่นเดียวของประเทศไทยและของโลกที่ จัดอยู่ในสถานภาพที่หายากและใกล้จะสูญพันธุ์เนื่องจากแหล่งนิเวศหรือสภาพป่าดงดิบชื้นถูกคุกคาม ทำให้การแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติอยู่ในขีดจำกัด

เอกสารอ้างอิง : - นายอวัช นิติกุล หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพระแทว
-กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
-หนังสืออุทยานสัตว์ป่าเขาพระแทวโดย Jean Boulbet และ นพดล พฤกษะวัน



เรื่อง กองบรรณาธิการ
ภาพ นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง




Read more