About

"พระผุด" ตำนานอัศจรรย์ที่วัดพระทอง




        “การก่อพระพุทธรูปสวมพระผุดนี้ก่อด้วยอิฐถือปูนมีแต่เศียรกับพระองค์เพียงเท่าทรวงเพื่อให้ดูเหมือนผุดขึ้นมาจากพื้นดิน ฝีไม้ลายมือทำก็กระนั้นแหละ แต่ต้องชมว่าเขากล้า มีคนน้อยคนที่จะกล้าทำพระครึ่งองค์เช่นนี้ เพราะฉะนั้นก็จะต้องยอมรับว่าเป็นของควรดูอย่างหนึ่ง”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)

        ภาพของพระพุทธรูปองค์ขนาดใหญ่ ที่ผุดขึ้นมาจากพื้นดิน ณ วัดพระทอง ในอำเภอถลาง วัดเก่าเเก่ประจำจังหวัดภูเก็ต ถือเป็นอีกหนึ่งของ Unseen Thailand ซึ่งมาพร้อมตำนานอันน่าสนใจเกี่ยวกับความมหัศจรรย์ เล่ากันมาว่า

        เมื่อแรกที่พบ “หลวงพ่อพระผุด” ณ เวลานั้นได้เกิดพายุฝนตกจนน้ำไหลท่วมทุ่งนาเสียหาย พัดพาต้นไม้โค่นล้ม พอฝนหยุดตกเด็กชายลูกชาวนาคนหนึ่งจูงควายไปเลี้ยงกลางทุ่ง แต่หากิ่งไม้ไม่เจอ เพราะต้องการหาที่ผูกเชือกสำหรับเลี้ยงควาย กิ่งไม้เล็กๆ ที่เคยผูกก็ถูกกระแสน้ำพัดพาไปหมด สักพักเขาเห็นสิ่งแปลกประหลาดสิ่งหนึ่ง มีโคลนตมพอกอยู่ มีลักษณะเหมือนตอไม้ขนาดใหญ่ผุดขึ้นมาจากดิน เลยนำเชือกคล้องควายไปผูกไว้แล้วก็กลับมาบ้าน

        พอถึงบ้านเด็กชายคนนั้นก็เป็นลมล้มชักเสียชีวิตลงทันที ในตอนเช้าวันนั้นเอง พ่อแม่ก็จัดการกับศพเด็กแล้วออกไปดูควายที่ผูกไว้ พอไปถึงที่ก็เห็นควายนอนตายอยู่เป็นที่อัศจรรย์ และเมื่อเดินไปดูใกล้ๆ ก็เห็นเป็นวัตถุอย่างหนึ่ง พวกเขาเกิดความรู้สึกกลัวรีบตัดเชือกผูกควายออกแล้วช่วยกันนำควายไปฝัง ตกดึกพ่อของเด็กที่ตายก็ฝัน ว่ามีคนมาบอกว่า ที่เด็กและควายต้องตายนั้นเป็นเพราะเด็กได้นำเชือกควายไปผูกไว้กับเกศพระพุทธรูป พอตื่นรุ่งเช้าก็ชวนเพื่อนบ้านให้ไปดู เมื่อเห็นวัตถุประหลาดนั้น ต่างคนต่างก็เอาน้ำมาล้างขัดสีเอาโคลนตมที่ติดอยู่ออกจนหมด จนกระทั่งสามารถ เห็นเป็นลักษณะเหมือนเกศพระพุทธรูปเหลืองอร่ามเป็นทองคำ ชาวบ้านจึงแตกตื่นพากันมา การบไหว้บูชาสักการะกันเป็นจำนวนมาก และยังชักชวนกันไปบอกให้เจ้าเมืองทรงทราบ

        เจ้าเมืองถลางสมัยนั้นอยู่ที่บ้านดอนซึ่งห่างกันประมาณ 3 กิโลเมตร เมื่อเจ้าเมืองทราบ ก็รับสั่งให้ทำการขุดมาประดิษฐานบนดินแต่ขุดอย่างไรก็ไม่สามารถขุดได้เพราะมีเหตุมหัศจรรย์เกิดขึ้นด้วยปรากฏว่ามีตัวต่อตัวแตนจำนวนมาก บินขึ้นมาจากใต้พื้นดินไล่ต่อยผู้คนที่ขุด และยังต่อยแต่เฉพาะคนที่ขุดเท่านั้น ส่วนพวกที่ไม่ได้ขุด เพียงแต่เอาดอกไม้ธูปเทียนไปไหว้ ลูบคลำเกศพระผุด ตัวต่อแตนก็จะไม่ทำอันตรายเลยต่อมาได้มีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาจากสุโขทัย ท่านได้เห็นหลวงพ่อพระผุด ท่านเกรงว่าหากพวกโจรเห็นแล้วจะตัดไปขายเสีย ท่านจึงคิดว่าควรจะสร้างวัดที่นี่ เพื่อเป็นการรักษาพระพุทธรูปองค์นั้นเอาไว้ วัดพระทองแห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้นในสมัยดังกล่าวโดยมี “หลวงพ่อสิงห์” เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ท่านได้ชักชวนชาวบ้านให้ช่วยกันสร้างกุฏิ วิหาร และสร้างอุโบสถโดยมีหลวงพ่อพระผุดเป็นประธานในพระอุโบสถแล้วก่อให้สูงขึ้น



        วัดนี้เมื่อสร้างเสร็จชาวบ้านเรียกว่าวัดนาใน วัดพระผุด หรือวัดพระหล่อคอ เมื่อสร้างวัดแห่งนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว พระธุดงค์รูปนั้นได้ผูกปริศนาลายแทงไว้ดังนี้ "ยัก 3 ยัก 4 หาบผี มาเผา ผีไม่ทันเน่าหอมฟุ้งตลบ ผู้ใดคิดลบ ให้เอาที่กบปากแดง" ปริศนานี้เจ้าอาวาสต้องแก้ให้ได้ ถ้าแก้ไม่ได้ จะอยู่วัดได้ไม่นาน แต่ไม่มีใครแก้ได้ในที่สุดวัดแห่งนี้ก็ร้างลง จนเลื่องลือกันว่า "วัดพระผุดกินสมภาร"

        อีกตำนานหนึ่ง บันทึกไว้ว่าพม่ายกทัพมาตีเมืองถลาง เมื่อปี พ.ศ. 2352 ได้พยายามขุดดินลงไปเพื่อหวังจะเอาพระผุดกลับไปพม่า แต่ขุดลงไปเจอมด ตัวต่อ แตน ขบกัด เอาไฟเผาดินร้อนขุดไม่ได้ พอดีทหารไทยยกทัพมาช่วย พม่าจึงหนีไป
       
        เวลาผ่านไปอีกเนิ่นนานจนสิ่งก่อสร้างในวัดผุพังรกร้างเหลือแต่พระผุดที่พอกปูนไว้ เมื่อถึงปี พ.ศ. 2440 พระครูจิตถารสมณวัตร์ (หลวงพ่อฝรั่ง) แห่งวัดพระนางสร้าง ท่านสามารถแก้ปริศนาได้จึงบูรณะวัดพระผุดขึ้นมา โดยได้เป็นเจ้าอาวาส จำพรรษาอยู่ถึง 61พรรษา
   
        มาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พระองค์ท่านได้เสด็จประพาสจังหวัด ภูเก็ตและได้เสด็จมาทอดพระเนตรพระผุดองค์นี้พระองค์ทรงมีพระราชวิจารณ์ไว้ว่า “การก่อพระพุทธรูปสวมพระผุดนี้ก่อด้วยอิฐถือปูนมีแต่เศียรกับพระองค์เพียงเท่าทรวงเพื่อให้ดูเหมือนผุดขึ้นมาจากพื้นดิน ฝีไม้ลายมือทำก็กระนั้นแหละ แต่ต้องชมว่าเขากล้า มีคนน้อยคนที่จะกล้าทำพระครึ่งองค์เช่นนี้ เพราะฉะนั้นก็จะต้องยอมรับว่าเป็นของควรดูอย่างหนึ่ง”

        จากนั้นรัชกาลที่ 6 ก็ได้พระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า “วัดพระทอง”

        หากแต่อีกความเชื่อหนึ่งของพี่น้องชาวจีนเชื่อว่าพระผุดถูกอันเชิญมาจากเมืองจีนเรียกว่า “พู่ฮุก” เล่าว่าธิเบตไปรุกรานจีนในเมืองเซี่ยงไฮ้ มีพระพุทธรูปทองคำ ชื่อ กิ้มมิ่นจ้อ ชาวธิเบตนำลงเรือมา แต่ถูกมรสุมจนเกยตื้น พระพุทธรูปองค์นั้นจมลงจนมีผู้คนมาพบในปัจจุบันท่าน ที่วัดแห่งนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ ที่ทางวัดจัดสร้างไว้ โดยรวบรวม วัตถุสิ่งของที่มีค่าทางประวัติศาสตร์ไว้มากมาย บอกถึงวิถีชีวิตของชาวภูเก็ตสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี

ขอขอบคุณ : นิตยสารภูเก็ตบูลเลทิน




เรื่อง กองบรรณาธิการ Paszo' magazine Chiang mai
ภาพ นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง

Leave a Reply