About

ท้าวเทพกระษัตรี




คำจารึกที่อนุสาวรีย์ฯโดยกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

เมืองถลางปางพม่าล้อมลุยรัณ
รอดเพราะคุณหญิงจันรับสู้
ผัวพญาผิวอาสัญเสียก่อนก็ดี
เหลือแต่หญิงยังกู้เกียรติไว้ชัยเฉลิม
เริ่มรบรุกตลบต้านโจมตี
ทั้งสกัดตัดเสบียงทีดักด้าว
พม่าอดหมดพลังหนีจากเกาะกเจิงแฮ
กลศึกแพ้แม่ท้าวไม่ท้อโถมหนอ

        ไพร่พลมากมายดั่งน้ำในมหาสมุทรถึง 144,000 คนจัดเป็นทัพใหญ่ยกมาหมายโจมตีสยามประเทศในรัชสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 เป็นที่รู้จักกันดีในนามสงครามเก้าทัพ หัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตกถูกระดมตีด้วยแม่ทัพใหญ่ยี่หวุ่นคุมกำลัง 3,000 คนตั้งแต่เมืองกระตะกั่วป่าตะกั่วทุ่งค่ายปากพระโดยมีเป้าหมายที่เมืองถลางคลังของสยามประเทศ คราวนั้นเจ้าเมืองถลางเพิ่งเสียชีวิตลงชาวเมืองถลางระส่ำระสายต่อข้าศึก ดีว่าท่านผู้หญิงจันภริยาเจ้าเมืองถลางที่ถึงแก่กรรมและคุณมุกผู้เป็นน้องสาวกลับเป็นศูนย์รวมใจให้ปวงชนตั้งมั่นและเข้มแข็งโดยรวบรวมกำลังคนจากบ้านต่างๆเช่นบ้านในยางบ้านไม้ขาวบ้านดอนบ้านเหรียงฯลฯมาเตรียมการรบที่ค่ายรบข้างวัดพระนางสร้าง ส่วนฝั่งทุ่งนาพม่าก็มายึดสร้างค่ายตั้งประชิดไว้ จากความได้เปรียบด้านเสบียง และภูมิประเทศปืนใหญ่ที่ตั้งตรึงไว้หลายวันเป็นผลให้พม่าเริ่มขาดแคลนเสบียง
        
        ด้วยกลศึกที่วางแผนให้ผู้หญิงแต่งกายคล้ายทหาร เอาไม้ทองหลางมาเคลือบปลายด้วยดีบุกมาถือแทนอาวุธทำทีเป็นกำลังเสริมเดินขบวนเข้าเมืองถลางทุกคืน ทำให้กองทัพพม่าเข้าใจผิด การประจันหน้าครั้งนี้ใช้เวลาถึง 1 เดือนเศษกำลังพม่าทั้งอ่อนล้าและขาดเสบียงอาหารเมื่อพม่าตั้งพลเข้าโจมตีถูกฝ่ายเมืองถลางระดมยิงปืนเล็กปืนใหญ่นำเอาดินประสิวไปโปรยในกองทัพพม่ายิงคบเพลิงเข้าไปผสมตามยุทธวิธีพระพิรุณสังหารครั้นเมื่อชาวเมืองถลางยิงปืนใหญ่แม่นางกลางเมืองถูกต้นทองหลางหน้าค่ายพม่าหักลง กองทัพพม่าระส่ำระสายเสียขวัญและแตกทัพไปเมื่อวันจันทร์เดือน 4 แรม 14 ค่ำปีมะเส็งสัปตศกจุลศักราช1147 ตรงกับวันที่13 มีนาคมพ.ศ. 2328เป็นวันถลางชนะศึก

        หลังเสร็จจากการศึกแล้วเมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมบำเหน็จผู้ทำคุณแก่แผ่นดิน โดยให้ท่านผู้หญิงจันเป็นท้าวเทพกระษัตรีคุณมุกน้องสาวเป็นท้าวศรีสุนทร

        หากประมวลความเรื่องราวกับชีวิตความเป็นอยู่ของท่านท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร นั้นนัยว่าท่านเป็นผู้หญิงที่ต้องบากบั่นตรากตรำทำงานเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของบ้านเมืองตลอดมานับแต่การรับภาระชำระหนี้สินภาษีอากรส่งเข้าท้องพระคลังหลวงแทนพระยาถลางซึ่งส่งให้ไม่ครบอันเป็นความรับผิดชอบในหน้าที่ต่อบ้านเมืองท่านมีความเฉลียวฉลาดเข้มแข็งเด็ดขาดสมกับที่เป็นเชื้อสายนักปกครองเมื่อมีภัยศึกท่านได้นำไพร่พลเข้าต่อสู้ด้วยกุศโลบายอันแยบยลจนได้รับชัยชนะข้าศึกปกป้องเมืองถลางไว้ได้ในยามที่บ้านเมืองขัดสนจากภัยของสงครามท่านก็ไม่ยอมย่อท้อต่อชีวิตนำชาวบ้านทำเหมืองดีบุกส่งขายเพื่อกอบกู้การเศรษฐกิจให้ไพร่พลชาวถลางมีความอยู่ดีกินดีขึ้นซึ่งวีรกรรมและผลงานของท่านนับเป็นแบบอย่างของหญิงไทยที่ได้รับยกย่องเป็นวีรสตรีเมืองถลาง

        พระราชดำริพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินประพาสภูเก็ตและทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ พ.ศ. 2452 ความตอนหนึ่งว่า
"... นึกขึ้นมาก็ต้องนึกชมว่าท้าวเทพกษัตรีนี้เป็นผู้หญิงคนเก่งคนหนึ่งผู้หญิงที่จะมีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในตำนานของชาติเรามีน้อยนักสมควรแล้วที่จะมีอนุสาวรีย์ไว้ให้ระลึกถึงและจำได้ต่อไปชั่วกาลนาน ..."

        อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีตั้งอยู่ที่วงเวียนสี่แยกท่าเรือตำบลศรีสุนทรอำเภอถลางจังหวัดภูเก็ตสร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2509

อ้างอิง
  1. อุทยานประวัติศาสตร์สงคราม 9 ทัพ
  2. วิกิพีเดีย
  3. ท้าวเทพกระษัตรีวัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดภูเก็ต
  4. วีรสตรีไทยสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯเล่ม 21
  5. ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทรวีรสตรีแห่งเมืองถลางโดยนางสาวบุหลงศรีกนก
  6. จอมร้างบ้านเคียน
  7. ศึกถลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง



เรื่อง กองบรรณาธิการ
ภาพ นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง







Leave a Reply