About

GRP – The Gibbon Rehabilitation Project




        ก่อนการเดินทางลงจังหวัดภูเก็ตครั้งนี้ทางทีมงานได้หาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ เพื่อจะได้ลงไปเก็บงานให้ได้ครบตามที่ต้องการแต่กลับไม่มีโครงการคืนชะนีสู่ป่าเลยในข้อมูลที่ส่งมาซึ่งทาง Paszo’ ได้พยายามจะจัดให้มีบทความประจำด้านอนุรักษ์ จึงหาข้อมูลเพิ่มเติม เมื่อหลายปีมาแล้วได้ยินว่ามีการรณรงค์เกี่ยวกับการขึ้นมาวางไข่ของเต่ามะเฟือง บริเวณหาดไม้ขาว แต่จากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทำให้จำนวนเต่าลดลงจนแทบจะเรียกได้ว่าหมดไปจากหาดไม้ขาวแล้ว ผมเคยได้ฟังคุณพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ พูดติดตลกในคอนเสิร์ตหนึ่งว่า “ขอหาดไม้ขาวให้เต่ามะเฟืองน่ะได้ ขอหาดเขาเขาก็ให้ มีหาด แต่เต่าไม่มี” เป็นตลกเล็กๆ ที่ต้องเก็บมาคิด ถึงมาตรการแบบวัวหายแล้วค่อยล้อมคอก ซึ่งเรามักจะเห็นได้บ่อยครั้ง

        ผมมาเจอโครงการคืนชะนีสู่ป่าจากแผนที่ฉบับหนึ่ง ซึ่งทำให้ผมสนใจเป็นพิเศษ และได้ทำการติดต่อเพื่อเข้าไปเก็บข้อมูลสิ่งที่ผมได้สังเกตเห็นคือชะนีหลายตัวที่อยู่ในศูนย์ มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ทั้งโดนเลี้ยงแบบทารุณกรรม ตัดมือ ตัดเท้า หรือเมื่อโตแล้วก็ปล่อยทิ้ง เพราะไม่น่ารักเหมือนตอนเด็กๆ พอโตขึ้นในฤดูผสมพันธุ์ชะนีจะมีนิสัยดุร้ายขึ้นตามสัญชาตญาณ

        ผมได้แต่เดินมองไปตามมุมต่างๆ กับข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาที่เป็นภาษาอังกฤษทำให้ผมเอะใจว่าทำไมหาภาษาไทยแทบไม่ได้ แม้แต่คนที่เข้ามาที่ศูนย์ก็มีแต่ชาวต่างชาติ เป็นบทสะท้อนให้เราต้องหันมาตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ให้มากกว่านี้ ภูเก็ตไม่ได้มีแค่ทะเลให้เรามาฉวยเอาความสนุกสุขใจ พักผ่อนสบาย แล้วก็จากไป แต่ยังมีอีกหลายชีวิต ที่คอยให้เราหันกลับมามองถึงบ้านเดิมของเขาที่ถูกรุกรานจนแทบจะไม่มีพื้นที่ให้อยู่อาศัย แถมยังถูกล่าจนช่วงหนึ่งศูนย์พันธุ์ไปจากเกาะภูเก็ตแล้ว



โครงการคืนชะนีสู่ป่า
มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย

โครงการคืนชะนีสู่ป่าเป็นส่วนอนุรักษ์และศึกษาวิจัยของมูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ได้แก่ กลุ่มเอเชียไวด์ไลฟ์ฟันด์ คุณเทอร์เรนท์ ดิลลอน มอริน และคุณนภดล พฤกษะวัน หัวหน้าป่าไม้จังหวัดภูเก็ตในขณะนั้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ชะนีและผืนป่าอันเป็นถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ โดยการฟื้นฟูชะนีให้มีความพร้อมที่จะปล่อยคืนสู่ป่า รวมถึงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาเชิงอนุรักษ์แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวทั่วไป



สถานภาพของชะนี
        ชะนีอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้นพบเฉพาะในแถบเอเชียตะวันตกเฉียงใต้โดยจะอยู่เป็นครอบครัว แต่ละครอบครัวจะมีอาณาเขตเป็นของตน ซึ่งกว้างประมาณ 150 – 200 ไร่ การร้องของชะนีถือเป็นสื่อเตือนให้ไม่ให้ครอบครัวที่อยู่ข้างเคียงหากินบุกรุกเข้ามาในอาณาเขตของตน  อาหารหลักของชะนีคือผลไม้  ใบไม้  ดอกไม้ และแมลง ชะนีจะมีอายุยืนยาวกว่า 25 – 30 ปี จะอาศัยอยู่บนยอดไม้ในป่าชั่วชีวิต หากลงมาบนพื้นดินมักจะตกเป็นเหยื่อของเสือดาว เสือโคร่ง ซึ่งเป็นศัตรูตามธรรมชาติของชะนี  นอกจากนี้ยังมีงูเหลือมและนกอินทรีที่คอยล่าชะนีเป็นอาหาร  แต่ศัตรูที่น่ากลัวที่สุดและเป็นตัวการทำให้ชะนีสูญพันธ์ก็คือมนุษย์

กว่าจะได้ลูกชะนีแต่ละตัวมาวางขายพรานต้องฆ่าชะนีไปกี่สิบตัวครอบครัวจึงจะได้ลูกชะนีที่มีอวัยวะครบสมบูรณ์ (แม่ชะนีป่าหวงลูกน้อยกระโดดหนีตามเรือนยอดไม้ พรานต้องยิงให้โดนแม่ เมื่อแม่และลูกร่วงลงสู่พื้นจึงจะได้ลูกมาขาย กี่ครั้งที่กระสุนพลาดไปโดนลูก กี่ครั้งที่ร่วงลงมาจากต้นไม้สูง 30 – 40 เมตรแล้วตายทั้งลูกและแม่ และกี่ครั้งที่ทั้งแม่และลูกไม่ตายในทันที สามารถหนีรอด แต่ต้องไปตายทีหลังเพราะพิษบาดแผล) เมื่อชะนีย่างเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ตามอายุประมาณ 6 ปี เขี้ยวจะยาวและเริ่มดุร้ายตามสัญชาตญาณสัตว์ป่า สุดท้ายเจ้าของก็จะฆ่าหรือทอดทิ้งหรือผลักภาระมาให้มูลนิธิฯ หรือกรมป่าไม้

ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ (CITES) ชะนีจัดอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 หมายถึงห้ามค้าขายเด็ดขาดเนื่องจากใกล้สูญพันธุ์ แม้ว่าจะมีพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่งมีบทลงโทษบทผู้ครอบครอง ล่าหรือค้าสัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต จะต้องระวางโทษทั้งจำทั้งปรับแต่กระนั้นก็ยังมีการฝ่าฝืนกันมาตลอด

        การฟื้นฟูชะนี เมื่อชะนีมาถึงโครงการฯ จะได้รับการตรวจสุขภาพ ชะนีที่มีความเหมาะสมก็จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูต่อไป  โดยการให้อยู่ในสภาพใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุด ซึ่งจะช่วยให้เกิดความคุ้นเคยหรือได้เรียนรู้วิธีการดำรงชีวิตในธรรมชาติอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ฝึกฝนการปีนป่ายห้อยโหนโยนตัวบนกิ่งไม้ ซึ่งจะทำให้ชะนีแข็งแรงสามารถเคลื่อนที่บนต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว ให้อาหารตามธรรมชาติและพยายามให้ติดต่อหรือเกี่ยวข้องกับมนุษย์น้อยที่สุดชะนีบางส่วนไม่มีความเหมาะสมที่จะปล่อย เนื่องจากเป็นโรคร่างกายพิการหรือมีปัญหาอื่นๆ ซึ่งเป็นภาระใหญ่หลวงที่ต้องเลี้ยงดูไปตลอดชีวิต

        ปัจจุบันเงินทุนในการดำเนินงานได้มาจากการบริจาคจากนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมการทำงานที่น้ำตกบางแป และกล่องรับบริจาคตามสถานที่ต่างๆ รวมทั้งความช่วยเหลือจากบรรดาอาสาสมัครทั้งชาวไทยและต่างชาติ หากท่านมีความประสงค์ที่จะสนับสนุนโครงการฯ ทั้งในด้านการเงินหรือสิ่งของต่างๆ ติอต่อได้ที่



โครงการคืนชะนีสู่ป่า
มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย
น้ำตกบางแป ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภุเก็ต 83110
โทร. 076-260 491-2
www.gibbonproject.org  /  www.warthai.org
Email : grp@gibbonprojec.org


เรื่อง กองบรรณาธิการ
ภาพ นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง

One Response so far.

  1. Slot Machines - JTG Hub
    Enjoy 나주 출장안마 slot machine games for free at JTG 충청북도 출장마사지 Hub. Online Slot Machines. Play online 제천 출장마사지 slots for free at JTG 전라남도 출장안마 Hub and play all 영천 출장안마 your favorite online slots!

Leave a Reply