About

ปายฟ้า ร้านนี้...ต้องแนะนำ


เมนูพิเศษมี 1 วันน 1 อาทิตย์
        ผมมีร้านปายฟ้ามาแนะนำอยากให้ลองไปชิมกันดูครับ หลังจากได้ไปลิ้มลองอยู่หลายครั้งก็เกิดอาการติดใจอยากนำมาบอกต่อ ด้วยความเป็นกันเอง สบายๆ อร่อย สะอาด และร้านก็ตกแต่งเก๋อยู่ในที เรียกว่าถ้าเป็นนักชิมก็ต้องขอแนะนำร้านนี้กันทีเดียว หลังจากนั่งคุยกับพี่รัก และพี่หนุ่ยซักพักใหญ่ๆ ก็เพิ่งรู้ว่าหนุ่มสาวลูกน้ำเค็มคู่นี้ทำไมถึงเลือกที่จะย้ายมาอยู่เชียงใหม่ ลองมาฟังเรื่องราวกันดูก่อนนะครับ เผื่อว่าแวะไปที่ร้านแล้วจะได้ร้องอ๋อ กับหลายๆ อย่างที่มีความหมายมากไปกว่าร้านอาหารเล็กๆ ร้านหนึ่ง

จากทะเล 
พี่หนุ่ย “เปิดร้านอาหารตามสั่งมา 20 กว่าปี ชอบทำอาหาร อาหารปักษ์ใต้ แกงไตปลา แกงส้ม อยู่ปัตตานี อยู่ในเมือง บายดี อะไรก็มีหมดทุกอย่าง...ขายดีนะ ของใช้ในร้านทุกอย่าง สั่งทำเฉพาะเลย”
พี่รัก “ขายก๋วยเตี๋ยวอันนี้มือใหม่ พอเศรษฐกิจมันแย่ คนไม่กล้าออกไปไหน แล้วคนเริ่มประหยัดกันมากขึ้น เราขายอาหารตามสั่ง ขายไอศกรีม มันกลายเป็นของฟุ่มเฟือย ก็เลยขายไม่ค่อยได้ ก็เลยหันมาขายก๋วยเตี๋ยว เลิกขายอาหารตามสั่งแล้วมาขายก๋วยเตี๋ยวได้ปีหนึ่งแล้ว”
ตกแต่งแบบสบายๆ เก๋ด้วยรายละเอียด
สู่ขุนเขา
พี่รัก “ย้ายมาเชียงใหม่ ตอนมาอยู่ใหม่ ๆ คิดว่าอยู่ไม่ได้ เครียดมากเลย ไปเหมือนต้องไปเริ่มต้นใหม่ ไปก็ไม่รู้จักใคร พี่น้องก็ต้องห่าง ทางโน้นที่เป็นอยู่มันก็ถอยหลัง อยู่ก็หมดเนื้อหมดตัว หนึ่ง...บ้านยังเป็นหนี้ธนาคารอยู่ถ้าเราไม่ขาย รายได้ที่เราได้แต่ละวันมันลดลงมาก อย่างใจหาย เราไม่มีปัญญาส่งดอกเบี้ยธนาคาร ไหนลูกจะเรียน ก็เลยขายไปถูกๆ เหลือเงินไม่กี่ตัง ก็เลยมาเช่าบ้านอยู่ ก็ให้ลูกเรียน คือสบายใจ แต่เค้า(พี่หนุ่ย)คิดมาก แต่ผมไม่คิดมาก ผมบอกเริ่มต้นใหม่ ก็ไม่เป็นไร นับหนึ่งใหม่ก็ไม่เป็นไร”
พี่รัก “ตรงนี้ขายก็พออยู่ได้ พอจ่ายค่าเช่า คือเราทำกันเองสองคน ไม่ได้จ้าง ผมก็ล้างจานแล้วก็มาเสิร์ฟ แต่ว่าเราสบายใจไม่เครียด ถามว่าอยู่โน่นเราได้เงินเดือนเป็นหมื่น พอมาอยู่นี้เหลือ 3-4 พัน ผมพอใจ 3-4 พัน เพราะว่าเราสบายใจ ไม่ต้องไปกังวลเรื่องอะไร พอดีผมค่อนข้างไปใส่ใจกับมัน ผมก็เลยเครียด โอ้..เวลารถพยาบาลมันผ่านนะ แต่ละวัน ๆ ไม่รู้กี่คันนะที่รับเข้ามาในเมือง เวลายิงทหาร ยิงชาวบ้าน ใครตายก็แล้วแต่ รถมัน หวอ หวอ หวอ หวอ....  มันผ่านหน้าบ้านทุกวัน เราขึ้นสมองเลย... ผมไปงานศพ เยอะมาก ซึ่งเราไม่รู้จัก ...สลด พูดแล้วอยากจะร้องไห้” 

ณ ปัจจุบัน
พี่รัก “ตอนนี้ผมจะพยายามหาเวลาให้มากที่สุด เพราะว่าเราก็เครียดมามาก แล้วก็ไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปไหน ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น ให้พออยู่รอดได้ เราก็ประหยัดเอาหน่อยเราก็กินก๋วยเตี๋ยวของเราเองนี่แหละ บางทีเราก็ไปซื้อข้าวกินมั่ง วันไหนขายไม่ดีเราก็กินก๋วยเตี๋ยวเรา เช้าก็ก๋วยเตี๋ยว เย็นก็ก๋วยเตี๋ยว เศรษฐกิจพอเพียง (หัวเราะ) ก็ให้มันอยู่รอดไปก่อน ก๋วยเตี๋ยว เกาเหลา แต่อยู่ที่นี่ผมสบายใจ เพราะว่าเรากลับมืดก็ไม่เป็นไรนะ”
พี่หนุ่ย “อย่างอยู่ที่นี่นึกจะไปไหนก็ไปเลย ป่ะ...ปิดร้านเลย (หัวเราะ)”
พี่รัก “เรามาอยู่ตรงนี้ก็สบายใจ ทำให้พอเลี้ยงตัวรอดไปวัน ๆ อยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียง ตอนอยู่ที่บ้านเราเครียดมานานแล้ว”
ที่มาของชื่อ
พี่รัก “ลูกสาวคนโตชื่อ ปาย คนเล็กชื่อ ฟ้า ชอบแม่ฮ่องสอนไง ปาย ก็แม่น้ำปาย แต่ว่าฟ้านี่ตอนเขาเกิดครูดอยเขาตั้งชื่อให้เพราะผมชอบส่งของให้โรงเรียนบ่อยๆ เขาบอกว่าถ้ามีลูกผู้หญิงให้ชื่อน้องฟ้า ครูดอยที่แม่สาย ชื่อครูจันทร์แรม ก็เลยชื่อ “ปายฟ้า” แล้วแต่ก่อนอยู่ร้านที่ปัตตานีชื่อร้าน “บัวตอง” ซึ่งหมายถึงดอกบัวตอง ขายตามสั่งมา 20 กว่าปี พอย้ายมาที่นี่ก็เลยชื่อร้าน “ปายฟ้า” (หัวเราะ)” 

ตกแต่งเล็ก ๆ น้อย ๆ
...ของเต็มบ้านเลย อยู่ในกล่อง  ในบ้าน…
พี่หนุ่ย “แก (พี่รัก) ชอบเก็บ ของมันเยอะจากบ้านสี่ชั้น (ปัตตานี) ของมันไม่มีค่าอะไรหรอก แต่ว่าแกเก็บเอาไว้ เพราะคนมันชอบ เห็นอะไรมาก็เก็บ  เล็ก ๆ น้อย ๆ แกก็เก็บมา พี่ก็ไม่ว่าอะไร ร้านนี่แกแต่งร้านเองทั้งหมดเลย”
พี่รัก “...ของบางอย่างเราก็ขายไปบ้าง ระบายให้เพื่อนไปบ้าง เรารู้ว่าถ้าไปอยู่ข้างหน้าแล้วเราไปเช่าบ้านเขานี่ แล้วของไม่มีที่ไว้เราก็เลยโล๊ะ เอาเท่าที่จำเป็น เอาพวกเครื่องมือหากิน เช่น ตู้ก๋วยเตี๋ยว โต๊ะ เก้าอี้”
พี่รัก “โต๊ะเก้าอี้นี่ก็ขนมาด้วย ผมขนมาจากทางโน้นหมดเลย... ข้าง ๆ นี่พี่ทำห้องสมุด ไปเช่าบ้านเขาแล้วเขาบอกว่าตรงนี้มีที่ว่างข้าง ๆ แล้วป้าบอกว่าจะใช้ทำอะไรก็ทำไป เราก็ทำเป็นที่อ่านหนังสือเอาไม้เก่ามาทำเป็นชั้นวางหนังสือมานั่งอ่าน บางทีเขามางานบวชหรืองานอะไรเขามาจอดรถรอ เขาก็มานั่งอ่าน อย่างหนังสือพิมพ์เราอ่านตรงนี้จบเราก็ไปไว้ตรงโน้น คือมาอยู่แล้วรู้สึกมีความสุข”

ขยับขยาย
พี่ตู่ “แล้วโครงการที่คิดจะย้ายร้านมีม้าย? ให้กว้างขึ้น ให้ใหญ่ขึ้น?”
พี่หนุ่ย  “ม้าย...อะ”
พี่ตู่  “แล้วถ้าค้าขายดีขึ้นจะทำยังไง?”
พี่หนุ่ย “ดีขึ้นก็เอาแค่นี้แหละ ขายไม่ดีก็แค่นี้ ขายดีก็แค่นี้ (หัวเราะ)”
เคล็ดลับ
พี่ตู่ “ก๋วยเตี๋ยวของพี่หนุ่ยหรอยนะ มีเคล็ดลับไหรม้างม้าย?”
พี่หนุ่ย  “ไม่มีเคล็ดลับอะไรเลย บางที่ขี้เหนียวหมู บางที่ขี้เหนียวกระดูกนะ ใช้ไปเถอะกระดูกนั่นแหละหรอยเลย น้ำนี่เคี่ยวด้วยกระดูกอย่างเดียว ถ้าเกิดว่าเอา ...ใส่ มันไม่หรอย มันออกผงชูรส เอากระดูกเยอะ ๆ ใส่ไปเถอะ พี่ไม่มีเคล็ดลับไร คือ ทำด้วยใจไง ถ้าเกิดจะทำให้หรอยนี่ทำด้วยใจอะไรออกมาก็หรอย ทำจากใจ”
ที่อยู่ ร้านก๋วยเตี๋ยวปายฟ้า ถนนหลังวัดร่ำเปิง (ติดกับลานจอดรถประตูด้านหลังวัดร่ำเปิง)
พี่รัก(หนุ่มปัตตานี)-พี่หนุ่ย(สาวนครฯ ชอบแหลงใต้) เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวปายฟ้า
                                                         พี่ตู่(หนุ่มตรัง) ผู้ช่วยสัมภาษณ์


เรื่อง : กองบรรณาธิการ
ภาพ : นันทพัฒน์  สุรสิงห์โตทอง

Read more

Apple Cider Vinegar (Organic)


        
        วันนี้นอกจากจะมาเรื่องถ่ายภาพแล้ว ยังแอบแทรกเรื่องสุขภาพมาให้กันซักนิดนะครับ ก่อนอื่นผมเริ่มที่การถ่ายภาพก่อนนะครับ ภาพนี้จัดถ่ายง่ายๆ ที่บ้าน ไฟหนึ่งดวง เยื้องด้านหลัง และเปิดเงาอีกด้านด้วย Reflex เพื่อให้ขวด และน้ำผึ้งดูใส และมีมิติมากขึ้น ภาพนี้จริงๆ แล้วผมถ่ายมาเป็นแนวตั้ง ซึ่งจะมีองค์ประกอบภาพที่ดีกว่า เพราะมีผลแอปเปิ้ลวางประกอบเรื่องราว กับขวดแก้วคอสูงทรงสวยใส่ Apple cider แต่ด้วยความที่ภาพนี้นำไปใช้ในแนวนอน ผมเลยต้องใช้วิธีครอปภาพให้ได้ตามที่ต้องการครับ ทีนี้เรามาดูเรื่องสุขภาพกันมั่งนะครับ

        วิธีชลอความแก่ด้วยผลิตผลจากธรรมชาติแบบไม่ต้องไปพึ่งมีดหมอแล้วยังช่วยให้สุขภาพแข็งแรงคงถูกใจสาวๆ และใครที่ชอบทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำกับสูตรเด็ดที่จะช่วยให้คุณสดชื่นด้วยเมนูสุขภาพที่หาง่ายและสะดวกซื้อตามซุปเปอร์มาเก็ตชั้นนำทั่วไปนั่นคือAPPLE CIDER VINEGAR (Organic) ทีนี้เรามาดูกันว่าเจ้าชื่อยาวๆ นี่คืออะไรแล้วทำไมถึงน่าสนใจ

        APPLE CIDER VINEGAR (Organic) หรือเราจะเรียกสั้นๆ ว่า ACV ก็คือน้ำส้มสายชูหมักจากผลแอปเปิ้ลมีคุณสมบัติเป็นกรดรสเปรี้ยวสีเหลืองคล้ายสีชาขุ่นเกิด จากการนำแอปเปิ้ลสดซึ่งปลูกโดยไม่มีการใช้สารเคมีนำมาบดและปล่อยให้เกิดการหมักตัวในถังไม้ตามเวลาที่เหมาะสมก็จะมีเส้นใยบางๆ ที่เรียกว่า Mother ที่เราสามารถเห็นได้เมื่อยกขึ้นส่องกับแสงเส้นใยบางๆ นี่แหละคือส่วนที่มีสารอาหารมากที่สุดและดีต่อระบบย่อยอาหารอย่างมากการผ่านความร้อนจะทำลายมาเธอร์ที่มีอยู่ในน้ำส้มสายชูหมักสิ่งนี้จึงทำให้น้ำส้มสายชู หมักแอปเปิ้ลนี้แตกต่างจากน้ำส้มสายชูทั่วไปในท้องตลาดที่ผ่านการกรอง
ACV มีส่วนประกอบของธาตุโพแทสเซี่ยมสูง ซึ่งมีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์อย่างมากเช่นช่วยชะลอความแก่ช่วงระบบย่อยอาหารแก้ท้องอืดท้องเฟ้อระบบหายใจแก้ไซนัสแก้เจ็บคอลดการเกิดเสมหะ ช่วยลดน้ำหนัก ลดอาการปวดข้อแก้อ่อนเพลียป้องกันโลหิตจากอีกทั้งยังมีคุณสมบัติเป็นยาปฏิชีวนะยา ฆ่าเชื้อและมีเอนไซม์หลายชนิดรวมอยู่ด้วย


        HONEY BEE น้ำผึ้งแท้เป็นผลิตผลของน้ำหวานจากดอกไม้ผ่านการเปลี่ยน แปลงทางเคมีจากเอนไซม์ในต่อมน้ำลายของผึ้งแล้วเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคส และฟรุกโตสให้เป็นน้ำตาลเชิงเดี่ยวได้แก่น้ำตาลกลูโคสและเดกโทรสนอกจากนั้นเป็นน้ำตาลเชิงคู่และเชิงซ้อนอีก 10% และยังมีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์อีกมากมายและยังมีพวกน้ำย่อยเช่นเอนไซม์กลูโคออกซิเดสที่ทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาล กลูโคสเป็นกรดกลูโคนิคและไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ซึ่งมีคุณสมบัติยับยั้งและทำลายเชื้อโรคได้น้ำผึ้งมีวิตามินอยู่อีกมากมายหลายชนิด กระบวนการนำมาดื่มก็ไม่ยากเลยทุกๆ เช้าหลังจากตื่นนอนให้ผสม ACV กับน้ำผึ้งอย่างละ 1 ช้อนโต๊ะละลายในน้ำเย็น 1 แก้วเราก็จะได้เครื่องดื่มรสชาติหวานอมเปรี้ยวอร่อยกำลังดี หรือถ้าจะเพิ่มปริมาณก็แล้วแต่ชอบ

ภาพ นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง

Read more

กะท่าง


      ตามริมน้ำใสเย็น ในป่าลึก หรือบนดอยสูง  หากเราใส่ใจในรายละเอียดซักนิด เจ้าตัวน้อยที่น่ารักอาจแอบมองเราอยู่ก็เป็นได้ ซาลามานเดอร์ หรือกะท่าง ตัวน้อยที่ผมชอบมองหาเวลาที่เดินทางไปในที่ต่างๆ ความสมบูรณ์ และบริสุทธิ์ของพื้นที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าเจ้าตัวน้อยนี่จะได้สบตากันบ้างรึเปล่า เพราะฉะนั้นครั้งใดที่ผมได้มีโอกาสพบเจอเค้านั่นคือสิ่งที่บ่งบอกสภาพพื้นที่ได้เป็นอย่างดี


       กะท่าง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tylototriton verrucosus  หรือที่ภาษาท้องถิ่นเรียกว่าจักกิ้มน้ำ หรือจิ้งจกน้ำ กะท่างเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่จัดอยู่ในวงศ์ Salamandridae ในประเทศไทยมีชนิดเดียว กะท่างชนิดนี้มีลำตัวสีน้ำตาลยาว 7-8 เซนติเมตร หางยาว 7 เซนติเมตร นิ้วเท้าหน้ามี 4 นิ้ว และนิ้วเท้าหลังมี 5 นิ้ว พบอาศัยอยู่ตามลำธารน้ำไหลบนภูเขาสูงในระดับตั้งแต่ 1,500-2,000 เมตร เช่น ดอยเชียงดาว ดอยเวียงผา ดอยปุย ดอยอินทนนท์ และดอยอ่างขาง กะท่างมีเขตแพร่กระจายกว้างจากประเทศสิกขิม จีนตอนใต้ พม่า ลาว และไทย

        ในเวลากลางวัน กะท่างจะซุกตัวนอนอยู่ตามใต้ขอนไม้ กองกิ่งไม้ ใบไม้ หรือใต้ก้อนหินใกล้ลำธาร ในเวลากลางคืน หรือฝนตกจึงจะออกหากิน เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ในราวเดือนกันยายนจนถึงตุลาคมจะลงไปอยู่ริมฝั่งใกล้ลำธาร ตัวเมียวางไข่ขนาดใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 6-10 มิลลิเมตร ตามกอพืชน้ำลูกอ่อนที่ฟักออกมาลักษณะเหมือนพ่อแม่ แต่มีพู่เหงือกเป็นฝอยสำหรับหายใจ 3 คู่ติดอยู่ด้านข้างส่วนหัว ตัวอ่อนกินสัตว์น้ำอื่นๆ เช่นลูกอ๊อด แมลงน้ำ ในขณะที่ตัวเต็มวัยกินแมลง และสัตว์เล็กอื่นๆ

        กะท่างได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่การทำลายป่าต้นน้ำลำธาร และการล่ากะท่างมาส่งขายเป็นสัตว์เลี้ยง และสัตว์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ ทำให้กะท่างเริ่มหาได้ยากขึ้นทุกที จนมีจำนวนลดลงอย่างมาก

ส่วนมากจะไม่นิยมเรียกว่า หมาน้ำ เพราะความหมายกว้างมากซึ่งอาจหมายถึง 
        -  กะท่าง ทุกสปีชีส์* ในจีนัส Ambystoma ( เพราะมีเหงือกเหมือนแผงคอสุนัข ) 
        -  จงโคร่ง หรือ กง หรือ คางคกยักษ์ หรือ Bufo asper 
        -  กบว้าก หรือ Rana glandulosa

เก็บภาพได้ที่ : อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา
ภาพ : นันทพัฒน์  สุรสิงห์โตทอง

Read more

เส้นทางเดินทัพสมเด็จพระนเรศวร



        “ปี ๒๑๔๘ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงพบว่าพระเจ้าอังวะเริ่มสั่งสมกำลังที่ภาคเหนือของพม่า และเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ จากการได้หัวเมืองไทใหญ่แถบลุ่มน้ำสาละวินไปสวามิภักดิ์ เป้าหมายของพระองค์ก็เปลี่ยนจากตองอูมาเป็นอังวะทันที ด้วยทรงดำริว่าในระยะยาวหากปล่อยให้อังวะเป็นปึกแผ่นมากไปกว่านี้ อังวะจะเป็นอันตรายแก่อยุธยายิ่งไปกว่าตองอู”

        ปีพุทธศักราช 2148 เป็นช่วงเวลาที่รัฐไทยภายใต้การปกครองของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ผู้ชาญศึก ครอบครองและขยายขอบขัณฑสีมาขอบอาณาจักรสยามออกไปอย่างกว้างขวาง นับเป็นช่วงเวลาที่สงบสุขและเป็นปีสุดท้ายในรัชกาล ก่อนที่มหาราชพระองค์นี้ จะเสด็จสู่สวรรคาลัยอย่างไม่มีวันกลับ ระหว่างการกรีฑาทัพผ่านหัวเมืองเหนือเพื่อการราชการสงคราม ณ แผ่นดินพม่า 

        “ครั้นเสด็จถึงเมืองเชียงใหม่ก็หยุดพักจัดกระบวนทัพอยู่หนึ่งเดือน แล้วให้กองทัพสมเด็จพระเอกาทศรถยกไปทางเมืองฝาง ส่วนกองทัพหลวงยกไปทางเมืองหาง”

        เมื่อสมเด็จพระนเรศวร ได้ยกทัพมาถึงเมืองเชียงใหม่ ก็ได้พักทัพเพื่อเตรียมความพร้อมและเสบียงเป็นเวลาหนึ่งเดือน เสร็จแล้วจึงสั่งให้ พระเอกาทศรถนำทัพส่วนหนึ่งล่วงหน้าไปยังเมืองฝาง เพื่อทำการเกณฑ์คนเพื่อเป็นกำลังรบและเตรียมเสบียงให้แก่ทัพหลวง ซึ่งจะยกไปตั้งรอในเขตเมืองหาง ซึ่งน่าจะสันนิษฐานว่าอยู่ในเขตของรัฐฉาน ประเทศพม่า เพื่อรอเสบียงสำหรับการเดินทัพไปตีกรุงอังวะ ประเทศพม่า

        จากหลักฐานทางโบราณคดี พงศาวดารทั้งของไทยและของพม่า เอกสารโบราณที่จดบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเส้นทางที่พระนเรศวรเสด็จยกทัพไปตีพม่านั้น นักวิชาได้สันนิษฐานว่าทัพไทยอาจจะใช้เส้นทาง2เส้น คือ เส้นทางเลียบตามแม่น้ำปิงผ่านอำเภอเชียงดาวไปสู่ช่องกิ่วผาวอก เข้าสู่เขตแดนไทใหญ่แล้วเดินทางต่อไปยังกรุงอังวะ และอีกเส้นทางหนึ่งคือ เดินทางไปท่ามกลางภูเขาสูงอาศัยที่ราบริมสายน้ำแม่แตง สู่เมืองกื๊ด(ต.กื๊ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่) เมืองคอง(ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว) และเมืองแหง(อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่) ผ่านช่องหลักแต่ง ทะลุไปเมืองเต๊าะ แล้วก็จะถึงบริเวณสบจ๊อด (บริเวณที่แม่น้ำจ๊อดไหลลงแม่น้ำสาละวิน) แล้วไปข้ามฝั่งที่ท่าผา ไปเมืองปั่น เมืองนาย แล้วก็ไปเมืองลางเคอ จากเมืองลางเคอก็ทะลุสู่เมืองอังวะ อันเป็นปลายทางของการเดินทัพ ซึ่งเส้นทางที่สอง ที่เป็นเส้นทางที่ต้องเดินเลาะไปตามลำน้ำแม่แตงนั้น มีความเป็นไปได้มากกว่า เพราะเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางติดต่อและทำการค้าขายของคนในพื้นที่ 


        “ครั้นเสด็จถึงเมืองหางแล้วก็ให้ตั้งค่ายหลวงประทับอยู่ที่ทุ่งแก้ว สมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวรเป็นระลอกขึ้นที่พระพักตร์ แล้วกลายเป็นบาดทะพิษพระอาการหนัก จึงโปรดให้ข้าหลวงรีบไปเชิญเสด็จสมเด็จพระเอกาทศรถมาเฝ้า สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จฯ มาถึงได้ 3 วัน สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จสวรรคต เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148”

       แต่ในท้ายที่สุด ความตั้งใจที่จะนำทัพไปตีกรุงอังวะ ก็ต้องล้มเหลวเสียก่อน อันเนื่องมาจากเหตุประชวร ที่ทำให้พระองค์ถึงกับสวรรคตในเวลาต่อมาอีกเพียง3วัน เหลือไว้เพียงประวัติศาสตร์ของวีรกษัตริย์มหาราช ให้ไว้แก่คนรุ่นหลังได้ศึกษา และทำความเข้าใจ ในความมุ่งมั่น ความกล้าหาญและความเด็ดเดี่ยวของบรรพชนรุ่นก่อน ให้ซาบซึ้ง ในพระนามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของคนไทย ไปอีกนานเท่านาน

      ข้อมูลประกอบการเขียน
-มหาราชวงษ์ พงศาวดารพม่า (มหายาซะวิน)
-พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหมอบรัดเล
-ประวัติศาสตรล้านนา โดย สรัสวดี  อ๋องสกุล
-งานวิจัยเส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวร  ของ อ.ชัยยง  ไชยยศรี
-ไทยรบพม่า กรมพระยาดำรงราชานุภาพ



เรื่อง  โษฑศ  พลนาวี
ภาพ  นันทพัฒน์  สุรสิงห์โตทอง

Read more

ล่องแก่ง อย่างไรให้สนุก และปลอดภัย


        
        หลังจากที่เราเตรียมอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว เราลองมาดูกันครับว่าตัวเราเองควรมีความพร้อมขนาดไหน อย่าเพิ่งเบื่อนะครับ ว่าทำไมจะไปเที่ยวทั้งทีดูจะวุ่นวายยุ่งยากเสียเหลือเกิน จริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีอะไรแปลกไปจากที่เราไปเที่ยวอย่างอื่นเลยครับ เพียงแต่เราเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นอีกซักหน่อยเท่านั้น และการผจญภัยแบบล่องแก่งในสายน้ำที่เชี่ยวนั้น เราจะต้องมีการเตรียมตัวที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดมาก่อน ซึ่งมีข้อพึงปฏิบัติดังนี้

        1. ไม่ควรดื่มสุรา และของมึนเมาทุกชนิด ในขณะล่องแก่งโดยเด็ดขาดเพราะจะทำให้สมองเราสั่งการช้าซึ่งการจะผ่านแก่งน้ำที่เชี่ยวกรากนั้นสติ สมาธิ และการตัดสินใจต้องพร้อมอยู่เสมอ ถ้าพลาดอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และถ้าหากพลัดตกลงในสายน้ำเชี่ยวในขณะที่มึนเมาท่านอาจจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย 
        2. การแต่งกายกระชับ แห้งง่าย เบาสบาย ไม่ต้องหรูหราเพราะเรายึดความคล่องตัวเป็นหลัก เพราะเวลาที่เราต้องว่ายน้ำ ปีนป่ายขึ้นเรือ หรือขึ้นฝั่งบ้างเป็นบางโอกาส พวกเสื้อกางเกงหนักๆ จะกินแรงเราไปอีกมาก ดีไม่ดีจะพาลหมดแรงว่ายน้ำเอาตัวรอดซะอีก ถ้าห่วงสวยงาม หรือมีช่างภาพมารอถ่ายภาพก็ไม่ต้องกังวล เพราะเสื้อสวยๆของเราก็จะถูกเสื้อชูชีพใส่ทับไปอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเวลาล่องแก่งให้ยิ้มสวยๆ ไว้ก็พอครับ
        3. การป้องกันแสงแดด แนะนำให้ใช้ Sun Block แบบกันน้ำได้ หรือกลัวร้อนก็ใส่เสื้อแขนยาว แต่พวกกางเกงยีนส์ หรือกระโปรงนี่ไม่แนะนำนะครับ
4. หมวก เราสามารถรู้ได้ก่อนที่จะล่องแก่ง หรือล่องแพว่าเวลาที่เราจะล่องนั้นอยู่ทางทิศไหน หากเราต้องหันหน้าให้แดดตลอดเวลาก็อาจจะหน้ามืดได้ง่ายๆ แม้ปรกติเราจะใส่หมวกกันน๊อคอยู่แล้วก็ตาม แต่อาจจะบังแดดไม่หมด ซึ่งเราก็ต้องสวมหมวกก่อนแล้วค่อยใส่หมวกกันน๊อคทับอีกทีหนึ่ง แต่มีข้อแม้ว่าหมวกกันน๊อคจะต้องรัดสายบริเวณใต้คางไว้ด้วยนะครับ หรือเราอาจใช้ผ้าโพกหัวผืนใหญ่ๆ หรือที่เรียกว่าผ้าบัพก็ได้ครับ


5. เครื่องประดับ ควรถอดเก็บไว้ในที่ปลอดภัย ทั้งสร้อย แหวน โทรศัพท์ กำไล อาจจะสูญหายไปกับกระแสน้ำได้ แล้วจะกลายเป็นการล่องแก่งที่แสนแพงเมื่อรวมกับของที่สูญหายไปใต้สายน้ำ
 6. การฟิตซ้อมร่างกาย ควรฟิตซ้อมร่างกายให้พร้อมพอสมควร ไม่งั้นเวลาพายจะเป็นการกินแรงเพื่อนๆ และควรนึกถึงตอนเราตกน้ำด้วยว่าจะต้องใช้กำลังในการว่ายน้ำในสายน้ำเชี่ยวมากทีเดียว การฟิตซ้อมร่างกายจึงถือว่าเป็นส่วนสำคัญมากอีกเหมือนกัน 
7. การกันน้ำเข้าสัมภาระ แนะนำให้ใช้กระเป๋ากันน้ำจะดีที่สุด ส่วนอาหารการกินไม่ควรเตรียมไปมาก เพราะบางทีเราไม่มีเวลามานั่งทานอาหารหรอก และก็ควรทำใจให้ทานอาหารแบบง่ายๆ ในช่วงที่ใช้ชีวิตในลำน้ำ ส่วนมากการล่องแก่งมักใช้เวลาไม่นานจึงควรงดการแบกอาหารไปให้เป็นภาระจะดีที่สุด
8. รองเท้า ขอแนะนำให้ใช้รองเท้าที่เบา และแห้งง่ายๆ แต่ไม่ใช่รองเท้าแตะเพราะโอกาสที่จะหลุดลอยไปมีมาก ควรจะเป็นรองเท้ารัดส้นเท้า เพื่อความแน่นหนา และคล่องตัว 
9. ยา ประเภทใส่แผลสดกับปลาสเตอร์ ปิดแผล ควรมีติดตัวไปด้วย 
10. เคารพกฎ กติกา มารยาท ที่ทางอุทยานหรือสถานที่ ที่ล่องแก่งอย่างเคร่งครัด เพราะพื้นที่ที่จะเดินทางไปล่องแก่งส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตป่าต้นน้ำที่ธรรมชาติมีความเปราะบาง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องติดต่อขออนุญาตเดินทางเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ ให้ถูกต้อง
11. ที่สำคัญมากก็คือสมาชิกทุกคนที่เป็นฝีพายจะต้องเชื่อฟังคนพายที่เป็นคนคัดท้ายเรืออย่างเคร่งครัด
สิ่งที่ต้องทำเมื่อพลัดตกจากเรือ

          ขั้นแรกจะต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ในการป้องกันตัว เช่น หมวกกันน็อก เสื้อชูชีพ เพราะสามารถช่วยเราให้รอดพ้นจากการบาดเจ็บได้ และที่สำคัญควรต้องฟังคำสั่งของนายหัวเรือและท้ายเรือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้ามีเหตุทำให้ตกน้ำควรตั้งสติให้มั่น และว่ายน้ำกลับเข้าหาฝั่งที่ใกล้ที่สุดให้ได้ ขณะอยู่ในน้ำพยายามลอยตัวในท่านอนหงาย ยกขาทั้งสองข้างขึ้นระดับน้ำ ไม่ต้องกลัวว่าจะจมเพราะเสื้อชูชีพจะช่วยพยุงให้ไม่จมน้ำและไม่ต้องตกใจว่าจะถูกทิ้งลอยแพ เพราะเรือจะต้องวกกลับมารับอย่างแน่นอน


เรื่อง กองบรรณาธิการ
ภาพ นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง  / ภานุพงษ์ บุญเรือง

Read more

Southeast Asia white water Festival 2000


แก่งที่มีความยากอันดับหนึ่งของเมืองไทย
        
        ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว บนแม่น้ำแม่แตงสายนี้ที่ขึ้นชื่อเรื่องความยากของการล่องแก่งไปทั่วโลก ได้มีการจัดแข่งขัน Southeast Asia white water Festival 2000 ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2000 ซึ่งประสานงานโดย คุณสมยศ นิมมานเหมินท์ แม้ว่าเวลาจะผ่านมานานแล้ว แต่ความประทับใจในการแข่งขันครั้งนั้นยังคงอยู่ในความทรงจำของคุณสมยศอย่างไม่มีวันลืม

        “เราเชิญนักกีฬาเก่งๆ ทั่วโลก นักกีฬา kayaker มาจากทั่วโลกเลยครับ มากันประมาณ 36 คนตอนนั้นมือหนึ่งของโลก คนที่ทำสถิติโดดสูง 64 ฟุตที่แคนาดาก็มาแข่งด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการแข่งขันระดับนานาชาติครั้งแรก และครั้งเดียวในประเทศไทย และมีผู้ร่วมแข่งขันที่มีชื่อเสียงจำนวนมากเข้าร่วมการแข่งขัน Tao Berman, Jay Kincaid, Mike Abbot, Jared Meehan, Alan Ellard ฯลฯ ตอนนั้นเป็นการแข่งขันเยือน 3 ประเทศ มี ไทย มาเลเซีย และ อินโดนีเซียครับ ครั้งนั้นจัดที่แม่แตงจัดแข่งขัน 3 ประเภทคือ ประเภทแข่งเอาความเร็ว แบ่งเป็น 2 การแข่งขัน ในระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตรครับ ผ่านจากบ้านสบก๋ายลงมาเมืองกื้ด คือแบบ Downriver และแบบ Head to head และอีกประเภทที่จัดแบบ Freestyle หรือ Rodeo เป็นการแสดงท่าทางต่างๆ เหมือนยิมนาสติก เอาเรือลงแก่งผลิกคว่ำผลิกหงาย และให้กรรมการตัดสินว่าผู้แข่งขันคนไหนแสดงได้สวยงามสุด ใช้ความสามารถที่ยากที่สุดครับ แต่วัตถุประสงค์หลักของเรา คืออยากให้ผู้ที่มาแข่งเรือแคนูคายัคได้เห็น และกลับไปบอกต่อว่าเมืองไทยสามารถมาล่องแพยางได้ คือ โปรโมทการท่องเที่ยวนั่นเอง

        ในเมืองไทยเลือกแม่น้ำแม่แตงเพราะลำน้ำแม่แตงค่อนข้างจะยากที่สุด และช่วงระหว่างบ้านสบก๋ายมาเมืองกื้ดเป็นช่วงที่มีแก่งติดแก่งครับ และก็ความสูงความลาดชันค่อนข้างเยอะ นักกีฬาบางทีตั้งตัวไม่ทันเลย แก่งแม่แตงเป็นแก่งค่อนข้างจะดีที่สุดแต่ว่ายากสำหรับคนไทยที่ยังไม่เคยเล่นกัน แต่สำหรับฝรั่งถามเค้าว่ายากมั้ย เค้าว่ายากก็ไม่ยาก ง่ายก็ไม่ง่าย ส่วนมากจะพอใจเพราะถ้าในประเทศเค้านี่จะเป็นแก่งลงมาถ้าหมดแก่งหนึ่งก็จะเจอทางเรียบแล้วก็เจออีกแก่งแล้วก็จะเรียบอีก แต่แม่แตงแก่งติดแก่งเลย ต้องใช้ความสามารถตลอดเส้นทาง และเค้าชอบที่แม่แตงมีหินเยอะ อีกทั้งตลอดระยะทางยาว 7 กิโลเมตรจะมีถนนอยู่ข้างน้ำตลอดเส้นทางครับ เผื่อเกิดอุบัติเหตุจะขึ้นมาก็ช่วยเหลือได้ และที่แม่แตงเนี่ย หากประสบอุบัติเหตุแล้วเรือไหลไปที่หนึ่งคนไหลไปอีกที่หนึ่ง คนแข่งก็สามารถจะเดินมาบนถนน มารอรถมารอกรรมการได้ แต่ที่อื่นเป็นป่าตลอด


        ที่ประทับใจมากที่สุดคือในงานนั้นไม่เห็นเค้าประสบอุบัติเหตุ ไม่เห็นเค้าเรือคว่ำ ถ้าคว่ำก็พลิกตัวขึ้นมาคนเดียวครับ ไม่ถึงกับต้องเข้าไปช่วย ไม่มีอุบัติเหตุซักอย่าง ก็ถือว่าความชำนาญของเค้ามีค่อนข้างสูง เราเตรียมกู้ภัยไว้เป็นจุดๆ ที่เราคิดว่าจุดไหนยาก แต่ไม่ได้ใช้ซักคนเพราะเค้าเก่ง การแข่งขันนี่ไม่มีคนไทยลงแข่งเลยนะ เพราะเมื่อ 10 ปีก่อนตอนนั้นยังไม่มีใครมีทักษะที่จะใช้เรือนี้ได้ 


        "ตอนนั้นก็มีคนไทยมาจากนครนายกมาลองเล่นก่อนการแข่งขันประมาณซัก 2-3วัน มาลองแล้วล้มระเนระนาดแล้วก็หายไปเลย"
        
        อีกอย่างที่ทำให้ประทับใจ คือฝรั่งเค้าไหว้น้ำก่อนลงแข่งครับ ฝรั่งไหว้ครับ เค้าบอกว่าเป็นการเคารพนับถือในแม่น้ำ บางคนก็ไปอยู่ริมน้ำไปสงบสติอารมณ์ ผมก็ถามว่าไปทำไม ไปทำพิธีเคารพแม่น้ำ 
ในแม่แตงนั้นมันมีอีก Section หนึ่งที่ยากที่สุดเลยคือคนทั่วไปไม่ควรเล่น เค้าเรียกว่าออบกื้ด ที่นี่จะเป็นออบเขา คล้ายๆ กับออบหลวงนะ แต่ว่ามันจะมีหินอยู่บนดอยกลิ้งลงมาทับน้ำหมดเลยจนกลายเป็นน้ำไหลเข้าพื้นดิน น้ำเข้าข้างล่างออกข้างล่างกลายเป็นแม่น้ำแม่ตะมาน เค้าเรียกว่าหุบเขาเมืองกื้ด และเหนือน้ำด้านนี้จะเป็นแก่งขึ้นไปที่สบก๋าย ที่ออบกื้ดนี้จะเล่นไม่ได้เลยอันตรายมากครับ แต่ว่ามีมือหนึ่งของโลกมาเล่นที่นี่ครับ โดยที่มีสองสามคนจากกลุ่มที่ไปครับ เค้าขอไปเล่นที่นี่ ตอนนั้นคนที่เป็นมือหนึ่งของโลกที่มาแข่งกับเรา เค้ารู้จากชาวบ้านว่ามีแก่งที่ยาก และชาวบ้านรับอาสาพาเค้าไป และมีคนจากเอเชียแอดเวนเจอร์เป็นรายการทางทีวีครับ ตามไปถ่ายทำทีวีนายคนนี้ไปกระโดดที่ออบกื้ดออกอากาศทั่วโลก เป็นแก่งยากครับ แต่ว่าเล่นที่นี่พอมาถึงช่วงที่น้ำมุดใต้หินก็เล่นไม่ได้ครับ ยอมรับว่าเค้าเก่ง ตรงออบกื้ด อันนี้นักกีฬาทั่วไปเล่นไม่ได้ครับ นอกจากมือหนึ่งแท้ๆ ต้องเอาตัวรอดครับ ถ้ามาล่องแก่งใช้คายัคกับแคนู ถ้ามาล่องเองไม่ปลอดภัยครับ ต้องเป็นนักกีฬาที่ว่ามีทักษะในการพายเรือไม่ต่ำกว่า15-20 ปี

        สำหรับคนที่อยากล่องแก่ง ต้องเริ่มเล่นตั่งแต่ในแม่น้ำปิงน้ำเรียบ ต้องมีทักษะว่าเรือพลิกคว่ำต้องหงายขึ้นมาได้ที่เค้าเรียกว่า "Eskimo roll" ต้องช่วยเหลือตัวเองได้ มีจิตใจหนักแน่นพอ ต้องเล่นระดับง่ายไปหายากเช่นเล่นในน้ำปิง ออบหลวงตอนบนให้ได้ก่อน ต่อไปก็มีทักษะเล่นแถวนครนายก น้ำปาย น้ำเขก น้ำหว้า และก็ถึงมาเล่นที่แม่แตง ไล่ตามความง่ายมายากเลยครับ ในการที่เราจะพัฒนาคนให้เล่นกีฬานี้ต้องอีกนานเพราะเป็นกีฬาค่อนข้างอันตราย ต้องมีทักษะ แต่เดี๋ยวนี้มีคนเอาเรือคายัค ลงตามแพยางคอยช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ตกเรือครับ พวกชาวบ้านครับ เค้าเป็นคนที่เมืองกื้ด เป็นพวกให้ความปลอดภัยคอยช่วยเหลือนักท่องเที่ยวครับ ความคุ้นเคย ความชำนาญก็ดีขึ้น” 


        ช่วงเวลาหลังจากปี 2000 ในประเทศไทยก็ไม่มีการจัดการแข่งขันระดับโลกอีกเลย มีเพียงครั้งนั้นครั้งเดียว ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เราไม่สามารถต่อยอดเสน่ห์ของสายน้ำแห่งนี้ให้เป็นจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวของเราได้ ทั้งๆ ที่การแข่งขันก็ยังมีการจัดต่อเนื่องมาทุกปีแต่จัดในต่างประเทศ คงไม่เป็นการเกินเลยถ้าจะบอกว่าเราทิ้งโอกาสอันดีที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงฤดูฝนให้หายไปกับสายน้ำแม่แตง ปล่อยให้เหลือไว้เพียงความทรงจำของนักกีฬา และผู้จัดในครั้งนั้น 
        เรื่องน่ารักอีกอย่างที่ทำให้ประทับใจ คือฝรั่งเค้าไหว้น้ำก่อนลงแข่งครับ ฝรั่งไหว้ครับ เค้าบอกว่าเป็นการเคารพนับถือในแม่น้ำ บางคนก็ไปอยู่ริมน้ำไปสงบสติอารมณ์ ผมก็ถามว่าไปทำไม ไปทำพิธีเคารพแม่น้ำ

ขอขอบคุณ
คุณสมยศ นิมมานเหมินท์    ประธานฝ่ายกีฬาเรือพาย สมาคมกีฬาเชียงใหม่ 

Read more

บ้านอนัตตา เวลาแห่งความประทับใจ


บรรยากาศช่วงแสงสุดท้ายของบ้านอนัตตารีสอร์ท จ.เชียงใหม่
หรีดหริ่งเรไรระงมเสียงในหุบเขาท่ามกลางผืนป่าใหญ่ของลำน้ำแม่แตง ฤดูนี้สายน้ำที่เซาะหินแม้ไม่มากนัก แต่เสียงกระซิบแผ่วยินเสียงเหมือนท่วงทำนองเพลงแห่งพงไพร ที่คอยขับกล่อมให้นักเดินทางผู้ชื่นชอบธรรมชาติอันพิสุทธิ์ได้หลงใหลไปในอ้อมกอดของแม่น้ำสายนี้ ระเบียงไม้ที่ทอดยาวขนานกับลำน้ำแม่แตง ห้องขนาดกระทัดรัดแต่เป็นระเบียบ และสะอาดสะอ้านวางตัวพรางไปกับกิ่งก้านเขียวชอุ่มที่สอดประสานให้เกิดเป็นความลงตัวระหว่างธรรมชาติ และความเป็นส่วนตัว ท่ามกลางหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ “บ้านสบก๋าย” กลางป่าลึกของลำน้ำแม่แตง “บ้านอนัตตา” คือเรื่องราวนั้น
เมื่อสิบกว่าปีก่อนในเวลาที่พื้นที่แถบนี้ยังไม่เป็นที่รู้จัก “พี่ตี้ และพี่น้ำ” ได้เลือกที่จะเดินทางไปเรื่อยๆ และได้มาพักที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ แล้วก็เกิดประทับใจหลังจากนั้นเราก็มากันทุกปี พอมาช่วง 7 ปีหลัง เราเริ่มคุยกันว่าอยากทำที่นี่เป็นที่ๆ เรามาพักผ่อนกันได้สบายๆ แบบเพื่อนฝูง เราก็เริ่มทยอยทำที่นี้ พอทำซักพักเพื่อนฝูงก็เข้ามากัน บอกกันปากต่อปาก ต่อมาเลยเริ่มเป็นรีสอร์ทเต็มตัว แล้วก็มีกิจกรรมล่องแก่งเดินป่าเป็นกิจกรรมเสริมไป
“ผมอยากทำบ้านให้เป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่เพื่อให้กลืนกับป่า หลังคาเราใช้แบบธรรมชาติ มุงหญ้าคา 3 ปีเปลี่ยนที แต่ละห้องเป็นกระท่อมริมน้ำ ผมเน้นว่าต้องสะอาด อาหารต้องดี พอมารวมกับบรรยากาศอย่างนี้มันไม่ต้องปรุงแต่ง มันมีอะไรในตัวของมันเสร็จ แล้วพนักงานที่นี่ก็เป็นคนบ้านแถวนี้ทั้งนั้น เราอยากส่งเสริมอาชีพ Concept ของที่นี่ก็คือ มันเป็น Clean เป็น Green เป็น Organic เป็น Eco-friendly ที่บ้านอนัตตานี่เรา  กันเองมากคือ เราไม่มีกำหนด Check in / Check out  อยากมาเมื่อไหร่หรืออยากออกเมื่อไหร่ก็แล้วแต่สะดวก เหมือนกับว่าถ้าเราไปพักที่ไหน เราต้องการแบบไหน เราก็ทำให้เป็นแบบนั้น นอกจากกระท่อมริมน้ำบ้านอนัตตาแล้วเรายังมีกระท่อมกลางหมู่บ้านชาวเขาเผ่าอาข่า ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของสวนตะวันพันดาว ภายในสวน มีพืชผักสวนครัว นาสาธิต สวนกาแฟ และอโวคาโดอีกด้วย…
กิจกรรมหลักของที่นี่ คือล่องแก่ง สายน้ำเส้นนี้นักล่องแก่งจัดให้เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย และนอกจากล่องแก่งแล้ว เรายังมีแพ็คเกจไว้ให้ก็คือจะแบ่งเป็น 2  แบบ แบบเร่งด่วนคือ 2 วัน 1 คืน ในแพ็คเกจก็จะมีล่องแพไม้ไผ่ เดินป่า หรือจะล่องแพยาง ส่วนแบบชิวๆ คือแพ็คเกจ 3 วัน 2 คืน จะพาไปเดินป่าลัดเลาะทางน้ำไปเรื่อยๆ จะมีมอร์ส เฟิร์น พันธุ์ไม้แปลกตา ซึ่งจะเปลี่ยนไปตามฤดูกาล เที่ยวน้ำตกธรรมชาติ แล้วก็ล่องแพไม้ไผ่ต่อจนมาถึงสบก๋าย เดินเที่ยวในหมู่บ้าน ล่องแก่งแพยาง ขี่ ATV ปั่นจักรยาน เที่ยวชมหมู่บ้านชาวเขา ขี่ช้าง นั่งเกวียนฯลฯ

เรื่องอาหารการกินที่นี่ไม่ต้องห่วง เรามีพ่อครัวใหญ่ นอกจากอาหารที่มีไว้บริการแล้ว หากจองล่วงหน้าแล้วอยากจะกินอะไรแปลกๆ ของที่ไม่คิดว่าจะหากินได้ข้างบนนี้ ให้คุณบอกก่อนล่วงหน้าเราพร้อมจะจัดให้คุณได้ กาแฟสดของเราที่นี่ เราปลูกเองเป็นสายพันธุ์อาราบิก้ามาจากดอยช้าง จุดหลักอยู่ที่วิธีการบ่ม วิธีการเก็บ แล้วก็วิธีการคั่ว ที่นี่เราบ่ม 8 เดือน กากของกาแฟที่เราดื่มแล้วก็ยังเอาไปทำ สปา ไปขัดผิวได้อีกด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์บำรุงผิวของที่นี่ผลิตจากธรรมชาติล้วน ไม่มีส่วนผสมจากสารเคมี เหมาะสำหรับคนที่แพ้ง่าย แล้วเราก็มีเป้าหมายว่าเราจะทำยังไงให้ ดึงของธรรมชาติออกมาใช้ให้มันมีประโยชน์มากที่สุด  จึงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวของเราเอง เราขายที่นี่เราอยากให้ลูกค้าที่มาเที่ยวที่นี่ แล้วซื้อจากที่นี่ไป ให้เขาประทับใจว่าคุณมาที่นี่มีทุกอย่างเบ็ดเสร็จ“ 
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความประทับใจ หากใครคิดว่าเวลาวันหยุดนี้อยากพักผ่อนแบบเงียบๆ หรืออยากทำกิจกรรมมันส์ๆ ที่บ้านอนัตตารีสอร์ทพร้อมที่จะให้บริการคุณในแบบที่คุณต้องการ แล้วคุณจะรู้ว่าความสุขอยู่ไม่ไกลเลย
http://www.baananattaresort.com
บ้านอนัตตารีสอร์ท 
113 หมู่ 3 บ้านสบก๋าย, กึ๊ดช้าง, แม่แตง, เชียงใหม่
เรื่อง  นันทพัฒน์  สุรสิงห์โตทอง
ภาพ  นันทพัฒน์  สุรสิงห์โตทอง

Read more

แก่งกึ้ด วิถีชุมชน กับห่วงยางมหาสนุก


แม่น้ำแม่แตงช่วงฤดูร้อน หรือต้นฤดูฝนระดับน้ำยังไม่สูงนัก

วันนี้เราจะพาไปหลบร้อนกันแถวเส้นแม่มาลัย-แม่ตะมาน บนเส้นทางของสายน้ำที่ตรึงตาตรึงใจนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมานานมาก แต่สำหรับคนเชียงใหม่เองเพิ่งมาเริ่มรู้จักก็แค่ประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่เพียงช่วงเวลาไม่นานก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดฮ๊อตนั่นก็คือ แก่งกึ๊ด ชื่ออาจฟังดูแปลกๆ แต่ถ้าใครไปแล้วเห็นว่าย้อนกลับมาเที่ยวกันซ้ำแล้วซ้ำอีก อยากรู้ว่าทำไมตามไปดูกันได้เลยครับ
ห่วงยางและนักท่องเที่ยวจำนวนมากในแม่น้ำแม่แตง
จากตัวเมืองเชียงใหม่เพียงชั่วโมงเดียวบนเส้นแม่ริม-แม่มาลัย เราก็จะเข้าสู่เขตชุมชนกื้ดช้าง ชุมชนโบราณที่เก่าแก่ด้วยเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์มากมาย ห่างออกไปไม่ไกลจากบนสะพานผมเห็นผู้คนจำนวนมากที่มาเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน บางคนมาตั้งแต่เช้า บางคนมาเที่ยง แต่ผมเลือกที่จะมาช่วงบ่ายเย็นเพราะไม่เร่งรีบอะไร เราข้ามสะพานมาแล้วก็เลี้ยวซ้ายอีกไม่กี่เมตรก็จะมีด่านเก็บค่าผ่านทางที่จัดเก็บโดยหมู่บ้าน ตอนแรกก็ไม่เข้าใจว่าเก็บไปทำไมเพราะเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่พอได้คุยกับกำนัน....แล้วก็ได้รับความกระจ่างว่าที่เก็บก็เพื่อนำไปจัดสรรให้ชาวบ้านมาช่วงกันเก็บขยะ รักษาความสะอาด ก็ถือเป็นชุมชนที่ร่วมแรงร่วมใจกันดีทีเดียวนะครับ 
อารมณ์มาเที่ยวที่แก่งกื้ดนี่อาจจะเหมือนแนวบ้านๆ กันหน่อยนะครับ เพราะตามริมน้ำจะมีซุ่มไม้ไผ่มุงจากเรียงรายคอยให้บริการอยู่มากมายหลายซุ้มแต่ละซุ่มก็จะมีอาหารเครื่องดื่มคอยให้บริการ ใครเคยไปล่องแพแม่วางก็จะคล้ายๆ กัน เรื่องอาหารการกินไม่ต้องห่วงมีบริการตลอดทาง เวลามาเที่ยวแบบนี้ส่วนมากเรามักจะเลือกซุ้มที่ติดน้ำ นอกจากสะดวกสบายเวลาที่เราจะเล่นน้ำแล้ว เรายังได้ลมเย็นๆ พัดเอื่อยๆ ให้คลายร้อนได้เป็นอย่างดี กิจกรรมการละเล่นนอกเหนือจากมานั่งชิวชิวริมน้ำแล้ว เห็นจะไม่พ้นห่วงยางมหาสนุกที่ใครเห็นอาจจะไม่ค่อยกล้าลอง แต่ถ้าได้ลองแล้วจะติดใจครับ ห่วงยางมหาสนุกนั้นเริ่มจาก แต่ละร้านจะมีห่วงยางที่ทำจากยางในรถสิบล้อสูบลมไว้แน่นปั๋งเตรียมไว้ให้เช่า รอให้เราไปเลือกหยิบมาว่าจะถูกใจห่วงไหน จากนั้นก็พากันเดินขึ้นไปซักพักก็เริ่มลงน้ำปล่อยให้ห่วงยางพาตัวเราล่องลองไปตามกระแสน้ำ ลัดเลาะไปตามเกาะแก่ง หินก้อนเล็กก้อนน้อยที่คอยแหวกสายน้ำให้ไหลเลาะเรื่อยไปพาตัวเราเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาช่างพาเพลินดีจริงๆ แต่ที่เห็นฮิตกันช่วงนี้คือถ้ามาเป็นกลุ่มก็จะเล่นต่อตัวกันเป็นสายยาวๆ คนนำหน้าก็บังคับทิศทาง คนตามหลังก็กิ๊วก๊าวกันไปตามเรื่อง เวลาลงแก่งก็ฮากันไป พอเราล่องลงไปได้ซักพักก็ขึ้นฝั่ง แล้วเดินแบกห่วงยางย้อนขึ้นไปทางต้นน้ำเพื่อล่องลงมาอีกที แบบนี้เป็นตัววัดว่าเราแก่รึยัง พวกเด็กๆ เล่นกันได้ตั้งวันนึงหลายๆ รอบ แต่พวกผู้ใหญ่เดินย้อนซัก 2 รอบก็มานอนหอบซี่โครงบานกันหมดแล้วครับ

แต่ซุ้มรับนักท่องเที่ยวที่เราเห็นอยู่นี้ ไม่ได้อยู่ตลอดปีนะครับ ในช่วงที่น้ำเริ่มขึ้น หรือเข้าช่วงหน้าน้ำประมาณปลายเดือนพฤาภาคม-ต้นเดือนมิถุนายนซุ้มเหล่านี้ก็จะถูกโยกย้ายออกไปจากพื้นที่ เพื่อป้องกันอันตรายจากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีซุ้มที่อยู่สูงขึ้นมาบริเวณตลิ่งที่ยังเปิดรับอยู่เช่นเดิม ช่วงที่ปริมาณน้ำมากขึ้นการล่องแก่งก็จะมีความอันตรายเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ในช่วงเดือนธันวาคม-มิถุนายนยังสามารถเล่นน้ำได้อย่างสบายใจเพราะปริมาณน้ำยังไม่มากถึงขนาดเป็นอันตราย แต่ถ้าพ้นจากช่วงนี้แล้วไม่แนะนำให้ลงเล่นเองโดยเด็ดขาด เพราะล่องแก่งแม่น้ำแม่แตงสายนี้ยามแล้งก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งความสุข แต่เมื่อเข้าช่วงฤดูน้ำหลากแม่น้ำสายเดียวกันนี้จะกลายเป็นแก่งที่มีความโหดที่สุดของเมืองไทย ต้องอาศัยความชำนาญ และต้องมีทีมกู้ภัยที่มีความพร้อมสูง จัดเป็นแก่งที่ขึ้นชื่อไปไกลในระดับโลก อย่างไรก็ลองหาโอกาสแวะมานั่งเล่นที่แก่งกึ้ดกันซักรอบนะครับ 

เรื่อง นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง
ภาพ นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง

Read more

วัดเมืองกึ้ด


        
        คงจะเป็นเรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจมากๆ กับกองทัพไพร่พลเรือนแสน ช้างและม้าศึกอีกนับไม่ถ้วน ที่ได้ตั้งค่ายพักแรมอยู่กลางหุบเขาเล็กๆ ริมที่ราบฝั่งน้ำแม่แตง ภาพเหล่านั้นเป็นบรรยากาศที่น่าประทับใจมากๆ ซึ่งเราเองคงได้นั่งจินตนาการว่ามันจะเป็นอย่างไร เพราะปัจจุบันนี้คงไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นการเคลื่อนย้ายไพร่พลจำนวนมหาศาลด้วยการเดินเท้าอีกแล้ว และประทับใจเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า โดยที่กองทัพที่มี ไพร่พล ช้าง ม้า อาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านั้น คือกองทัพของพระนเรศวรมหาราช มหาราชผู้พิชิตของคนไทย  และสถานที่ที่ได้เกริ่นนำไปข้างต้นนั้นในปัจจุบันก็คือ วัดเมืองกื๊ด วัดเล็กๆ ที่ตั้งอยู่กลางหุบเขาในเขต ต.กื๊ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ นี่เอง
เมืองกื๊ด เป็นชุมชนโบราณเข้าใจว่าน่าจะสร้างโดยเจ้าเมืองเชื้อสายลั๊วะหรือละว้า ในช่วงสมัยเดียวกับเมืองเชียงใหม่ เมืองพร้าว เมืองแหง คือประมาณ 600-700 ปี วัดเมืองกื้ดได้ถูกสร้างขึ้นโดยเจ้าเมืองสมัยนั้น เพื่อเป็นการดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา แต่จะสร้างขึ้นปีใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ในคราวที่ทำการบูรณะวิหารหลังเก่า (พ.ศ.2532) มีจารึกว่าสร้างในปี พ.ศ. 2282 โดยได้จารึกไว้ในไม้กระดานเป็นอักษรขอม แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปแล้ว 


        เจ้าอาวาสองค์หนึ่งของวัดเมืองกื้ดชื่อครูบาพรหมมหาปัญญาในยุคสมัยที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำศึกกับพม่าเพื่อขับไล่พม่าออกไปจากแผ่นดินไทยนั้น เล่ากันว่าครูบารูปนี้ได้ปรารภธรรมกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในคราวที่พระองค์เสด็จขึ้นไปเมืองแหง และได้ทรงเสี่ยงทายปลูกต้นโพธิ์กับครูบาพรหมมหาปัญญา โดยพระองค์ทรงปลูกไว้ที่หน้าวัดเมืองกื้ด ในปัจจุบันต้นโพธิ์ยังคงอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารจากการศึกษาค้นคว้าของนายชัยยง ไชยศรี ว่ากองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้มาพักทัพคืนที่ 3 ณ เมืองกื้ด แม่น้ำแม่แตง วันพฤหัสบดี ที่ 14 แรม 11 ค่ำ เดือน 5 และพระองค์ อาจจะได้ทรงสั่งให้บูรณะวัดเมืองกื้ดด้วยก็เป็นได้ หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงยกทัพเสด็จตามฝั่ง ลำน้ำแม่แตงขึ้นไปถึงเมืองคอง เมืองแหง และทรงสวรรคต ในปี พ.ศ.2148

โดยในบริเวณวัดนั้น นอกจากจะมีต้นโพธิ์เสี่ยงทายอายุกว่า 400 ปีที่พระนเรศวรได้ทรงปลูกไว้แล้ว ยังมีศาลเจ้าปู่ดำ หรือศาลสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งเป็นศาลที่ได้สร้างไว้เพื่อรำลึกถึงพระองค์เมื่อครั้งสเด็จสวรรคตในปี 2148   ส่วนบริเวณดอยด้านหลังวัดนั้น เป็นที่ประดิษฐานเจดีย์พระธาตุก้าวหน้ามหามงคลคีรีศรีเมืองกื๊ด รอยพระหัตถ์พระพุทธเจ้า และรอยพระบาทเกือกแก้ว ซึ่งได้ค้นพบเมื่อปลายปี พ.ศ.2551 อีกด้วย 
สำหรับใครอยากที่จะสัมผัสเส้นทางเดินทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตามรอยประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ สักการะรอยพระหัตถบาท รอยพระบาทเกือกแก้ว  ได้สัมผัสกับวิถีของผู้คนในท้องถิ่น เรื่องราวเก่าๆที่น่าสนใจ  แล้วไปพักผ่อนต่อกับธรรมชาติในบรรยากาศสบายๆ ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพร การเดินทางมาเพื่อเยี่ยมชมวัดเมืองกื๊ด เป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจ และคุ้มค่าครับ


เรื่อง   Morning After pills
ภาพ  นันทพัฒน์  สุรสิงห์โตทอง

Read more

ดอยเวียงผา


ดอยเวียงผา แสงสุดท้าย
จุดชมวิวบนยอดดอยเวียงผา Canon EOS 5DMKII EF 16-35 f2.8L + Lee Graduate 0.7


ผมเดินทางมาไชยปราการก็หลายครั้ง ทั้งเป็นทางผ่านไปดอยฟ้าห่มปก หรือบางครั้งนึกคึกอยากขึ้นดอยอ่างขางทางนี้ก็มีบ้าง แม้ว่าเส้นทางจะชันกว่าทางบ้านอรุโณทัยบ้างก็ตาม แต่ครั้งนี้เรากำลังจะเดินทางไป อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผากัน หลายคนอาจไม่คุ้นหู และเชื่อว่าหลายคนก็ยังไม่เคยมา จากที่ค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ทก็ดูมีที่เที่ยวหลากหลายดี น่าจะใช้เวลาซักสามวันสองคืนก็น่าจะหมด เห็นมียอดสูงสุด มีน้ำตก อืมน่าไปลองดู เพราะแถวๆ นี้เราก็เที่ยวกันจะหมดแล้ว งั้นเราไปเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผากันเถอะ

“โอ๊ะ...แปดโมงแล้ว เราเพิ่งสตาร์ทรถออกจากบ้าน จากเชียงใหม่ไปไชยปราการกว่าจะถึงก็คงซักสิบเอ็ดโมง เสร็จกันนัดพี่ๆ เค้าไว้” เรารีบเร่งออกจากบ้านในเวลาที่ต้องไปถึง ทำให้ยิ่งร้อนใจว่าเลยเวลามาตั้งนาน ไหนเจ้าหน้าที่จะรอ ไหนจะต้องปรับแผนการเดินทางในวันนี้ 

ยังดีที่วันนี้รถน้อยมากทำให้เราทำเวลาได้ดี ไม่นานนักเราก็มาถึงทางแยกเลี้ยวเข้าอุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา ซึ่งก็ต้องเข้าไปอีก 12 กม. เราเลี้ยวรถเข้าไปซักพักเราก็เริ่มเจอทางแคบๆ จากแคบก็มาขรุขระ ต่อมาก็เจอถนนลูกรัง อืม...ต่อไปจะเจออะไรเนี่ย เราขับตามป้ายบอกทางมาเรื่อยๆ พอเห็นตัวอุทยานอยู่ข้างหน้าก็ต้องร้องโอ้โหกันทั้งรถ สนามหญ้าที่ได้รับการดูแลอย่างดี มีการจัดการที่ดีมาก เรียบร้อยสะอาดตาทั้งถนน ตัวอาคาร ห้องน้ำ ลานกางเต็นท์ทุกอย่าง แบบนี้ต้องยกนิ้วให้กับหัวหน้าอุทยาน และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ร่วมกันดูแลอย่างดี
ไหนๆ ก็มาสายแล้ว เราก็ออกเดินทางกันเลยละกัน เพราะที่แรกที่จะไปคือน้ำตกแม่ฝางหลวง ที่นอกจากต้องนั่งรถไกลแล้ว ยังต้องเดินไปอีกประมาณ 2 ชั่วโมง เรารบกวนรถของอุทยานเพราะได้รับคำบอกเล่ามาว่าเส้นทางนั้นไม่ธรรมดา แรกออกจากตัวอุทยานก็ยังไม่เท่าไหร่ ต่อมาซักพักก็เริ่มออฟโรด หลุมลึกๆ นี่เป็นเรื่องปรกติ ข้ามลำห้วยกันจนไม่อยากนับ แต่ที่สังเกต ทุกห้วยที่ข้ามน้ำใสมาก แสดงว่าที่น่าเป็นป่าต้นน้ำชั้นดี ลองถามเอกเจ้าหน้าที่ที่ช่วยมาขับรถให้ผมก็ได้ความว่าที่นี่น้ำมีตลอดปี แบบนี้ผมว่าฤดูฝนต้องสวยน่าดู 

น้ำตกแม่ฝางหลวง น้ำตกแรกที่ไปถึง
ถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ
โดยเลือกให้มีฉากหน้าเพื่อเพิ่มมิติของภาพ

ซักพักใหญ่ๆ เราก็มาถึงหมู่บ้านมูเซอ เอกบอกว่าเกือบจะถึงจุดที่เราต้องเดินต่อแล้ว คราวนี้เรามากับพี่ๆ เจ้าหน้าที่ 6 คน ผมอีก 2 คน อืมเป็นการเดินป่าที่ไม่เหงาจริงๆ เรามาจอดที่ท้ายไร่มูเซอ เพื่อเดินทางต่อ เส้นทางเดินเรื่อยๆ ผ่านไร่เก่าชาวบ้าน มีเห็นซากตอไม้ที่โดนลักลอบตัด พี่เตี้ยงเจ้าหน้าที่ป่าไม้ร่างสันทัดบอกว่าเป็นฝีมือของพวกนายทุนที่มาจ้าง เราจับได้ก็แต่ตัวเล็กๆ บางครั้งก็ไม่ได้ตัวเพราะพวกนี้เร็ว และรู้เส้นทางหนีดี ผมก็ได้แต่หวังว่าพวกตัดไม้ ทำลายป่าเมื่อไหร่จะหมดไปซักที โดยเฉพาะพวกนายทุน หรือผู้มีอำนาจที่เข้ามาบ่อนทำลายประเทศชาติ จะคอยให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ซึ่งมีกำลังอยู่ไม่กี่นาย กับพื้นที่หลายแสนไร่ก็ดูจะเป็นเรื่องยากที่จะป้องกันได้เต็มที่
เดินกันพอรู้จักชื่อ พูดคุยกันไปเรื่อยยังไม่ทันหายใจให้หลายหอบก็มาถึงตัวน้ำตกแม่ฝางหลวง ผมเองเป็นคนที่ชอบเที่ยวน้ำตกอยู่แล้ว เรียกว่าไกลแค่ไหนก็ขอเดินไปดู มาคราวนี้ก็สมใจเพราะทั้ง 2 ชั้นเป็นน้ำตกขนาดกลางๆ แต่น่ารัก ยิ่งป่ารอบข้างที่ยังอุดมสมบูรณ์ยิ่งช่วยขับให้น้ำตกดูสดชื่นสมกับที่เดินมา พวกเราปล่อยเวลาไปกับสายน้ำเย็นที่ไหลรินซักพักใหญ่ๆ พอให้ผมได้เก็บภาพ และนั่งเล่นซักพักเราก็ต้องเริ่มเดินทางกลับกันก่อนที่จะมืด ช่วงเดินกลับยังเจอเจ้างูเขียวปากจิ้งจกตัวน้อยมาคอยทักทายอยู่กลางทางพอเป็นพิธี วันนี้หมดวันด้วยความสดชื่นจากน้ำตกแม่ฝางหลวง รอรุ่งขึ้นที่เราจะไปพักกันที่ดงสน ก่อนที่จะเดินขึ้นยอดสูงสุด ยอดดอยเวียงผา

เรานัดแนะกันตอนแปดโมงเช้าก่อนจะแวะซื้อเสบียงเพื่อเตรียมตัวเดินทางไกลกันอีกครั้ง ที่ดอยเวียงผานี่การเดินทางไปท่องเที่ยวควรติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อสอบถามเส้นทางก่อน เราเดินทางกันหัวสั่นหัวคลอนกันมาซักพักก็เริ่มไร่ระดับขึ้นเรื่อยๆ ผ่านหมู่บ้านมูเซอดอยเวียงจนมาถึงจุดปล่อยตัว ได้ยินว่าจะมีนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มนึงมาเที่ยวด้วยกัน แต่จะตามมาทีหลัง วันนี้เลยต้องแบ่งเจ้าหน้าที่คือ เอก กับป๋าตุ้ยมากับผม เราก็เริ่มเดินกันไปตามสบายวันนี้เมฆครึ้มคลุมฟ้าเลยเดินเล่นชมนกชมไม้กันไปเรื่อยเปื่อยบนป่าก่อกว้างขวางเดินสบาย บนนี้ต้นไม้ใหญ่ๆ ยืนต้นห่างกันอย่างเป็นระเบียบ ซักพักก็เริ่มเดินลง ลงแบบลงอย่างเดียวไอ้เราก็คิดว่าเดินลงขนาดนี้ แล้วช่วงเดินขึ้นนี่จะขนาดไหน จากระดับ 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลงมาเหลือ 1,170 เมตรจากระดับน้ำทะเลแบบรวดเดียว ซักพักเราก็มาถึงลำธารแรกในดงไผ่ เดี๋ยวเรานั่งพักทานข้าวเที่ยงกันดีกว่า
พอให้ข้าวเรียงเม็ดก็ค่อยๆ ยกเป้ใบเล็กขึ้นสะพายหลัง แต่แทบแรงหมดเมื่อเอกบอกว่า เราจะเริ่มเดินขึ้นกันแล้วนะ แถวนี้เค้าเรียกว่า ป่าหอบ หือ...ป่าหอบหรือคนหอบ เพราะมองทางแล้วโอ้โหชันดีแท้ ท่าจะได้นับปลายเท้าตัวเองอีกแล้ว เวลาผมเดินทางขึ้นดอยสูงผมจะไม่มองปลายยอด เพราะจะหมดกำลังใจ เวลาเดินที่สูงชันอย่างหน้าผาผมจะไม่มองลงไปข้างล่างเพราะจะขาสั่นใจหวิวพาลจะก้าวขาไม่ออกเอาดื้อๆ แต่ชันยังไงก็ต้องเดินไม่งั้นต้องอยู่กินข้าวลิงคนเดียวไม่เอาดีกว่า ไต่ความสูงกันมาไม่นานเอกก็ชี้ให้ดูต้นปรง หรือมะพร้าวเต่า ต้นใหญ่สูงมากน่าจะซัก 15 เมตร ผมไม่ได้เห็นต้นปรงใหญ่ๆ แบบนี้นานแล้ว ผมชอบต้นปรงมากเพราะสวย ทนต่อสภาพอากาศ และยังใช้เป็นยาสมุนไพรได้อีกด้วย เช่นดอกใช้บำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ หัว นำมาฝนกับเหล้าแก้ฟกช้ำบวม  รักษาแผลเรื้อรัง เป็นยาสมานแผลได้ดี ยิ่งป่านี้ต้นปรงเยอะ และสมบูรณ์มาก ผมเดินถ่ายภาพไว้หลายต้นเลยเรียกว่าจุใจกันทีเดียว

เราค่อยๆ ไต่ระดับความสูงขึ้นมาเรื่อยๆ เดินหยุดสลับกันไป หลายหอบทีเดียวกว่าจะพ้นมาถึงป่าสน ตามเส้นทางตั้งแต่เริ่มเดินมีดอกไม้เล็กๆ มากมายออกดอกสวยตลอดเส้นทาง เป็นกำลังใจเล็กๆ ให้คนเดินทางอย่างเราๆ ป๋าตุ้ยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญกับทางเส้นนี้มากว่าสิบปีหันมายิ้มทุกครั้งเมื่อเห็นผมหยุดถ่ายภาพ เหมือนจะรู้ว่า หึ หึ จะหยุดพักละสิ แหมก็มันชันนี่ครับทำไงได้ ตามคาคบไม้กอเอื้องป่าสมบูรณ์อวบอิ่มมากมายตลอดทางบอกให้รู้ว่าช่วงเจ้าออกดอกต้องงามนัก เสียดายที่คราวนี้ยังไม่ใช่เวลาของเค้า

และแล้วเราก็มาถึงลานสนบนนี้อากาศเย็นสบายมากกับความสูงระดับ 1,650 เมตรแม้เวลาเพิ่งจะบ่ายสามโมง เราเดินไปเลือกมุมกางเต็นท์กันก่อนจะเดินไปชมน้ำตกใกล้ๆ ที่พัก ที่นี่น้ำดีจริงๆ สูงขนาดนี้ยังมีน้ำให้ใช้ได้อย่างสบาย ป๋าตุ้ยบอกว่าน้ำตกนี้ยังไม่มีชื่อ ช่วงหน้าแล้งยังมีน้ำอยู่แต่น้ำจะน้อยลง และถ้าโชคดีเราก็อาจจะเจอกะท่าง หรือซาลาแมนเดอร์แถวน้ำตกนี้ก็ได้ แสงสีทองเริ่มทาบทิวสนแล้ว แต่อีกกลุ่มยังไม่ขึ้นมา 

เกือบหนึ่งทุ่มเราจึงเห็นแสงไฟฉายวิบวับมาแต่ไกล ความมืดเริ่มปกคลุมจนไม่มีเวลาสนทนากัน ต่างคนต่างก็ต้องจัดการภารกิจส่วนตัว มื้อค่ำนี้เราเลยได้นั่งรวมกลุ่มกับเจ้าหน้าที่ครบหน้ากันเหมือนเดิม พรุ่งนี้จะออกเดินทางพร้อมกันโดยจะขึ้นไปนอนที่ยอด 1,834 เมตรจากระดับน้ำทะเล หลังจากเจอกันมา 2 วัน เรื่องราวเฮฮาเสียงหัวเราะคิกคักก็ตามมาอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่แต่ละคนให้ความเป็นกันเองอย่างมาก เหมือนเจอกันมาซักปี จนความเย็นของอากาศดึงให้เราแยกย้ายไปพักผ่อนกันอย่างอบอุ่นในมิตรภาพของการเดินทาง

ภาพนี้ผมวัดแสงที่ท้องฟ้า และตั้งให้ under ลงประมาณ 1 stop เพื่อให้ทิวสนด้านหน้าเป็นเงาดำ (Silhouette) 

เพื่อให้ท้องฟ้าดูสีเข้มขึ้นผมจึงเลือกใช้ฟิลเตอร์ PL 
ก่อนตะวันขึ้นผมตื่นมาพร้อมกับกาแฟแก้วใหญ่ จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นผมเล็งไว้ตั้งแต่เมื่อเย็นวานแล้ว เลยไม่ค่อยรีบร้อนซักเท่าไหร่ เพราะเดินไปนิดเดียวเองอีกอย่างเรายังไม่ได้อยู่บนยอดสูงสุด เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นก็มักขึ้นจากสันเขา ซึ่งแสงก็จะค่อนข้างแรง แล้วก็เป็นอย่างที่คิดจังหวะที่พระอาทิตย์ขึ้นมานี่แสงแรงมาก ทิวสนที่นี่สวยไม่แพ้ที่อื่นมีหลายกลุ่มฟอร์มสวยมากยิ่งช่วงฤดูหนาวที่เริ่มมีสายหมอกบางๆ คงจะเข้าที เอาละอาหารพร้อมแล้วเติมพลังเต็มที่เราก็พร้อมเดินทาง เห็นว่าทางไม่ชันหนักอย่างเส้นป่าหอบ ป๋าตุ้ยบอกว่าอีกไม่ไกลจะเจอดอกเอนอ้ากำลังออกดอกชูช่อสวยงามอยู่พอดี ผมก็นึกว่าดอกเอนอ้ามาทีละต้นที่ไหนได้มาเป็นลานเลยครับสวยงามมากๆ ดอกสีม่วงเข้มเบื้องหลังเป็นทิวสนตัดกับฟ้าสีน้ำเงินสดใส วันนี้ทำให้ผมถ่ายภาพมากเป็นพิเศษ

ระหว่างทางเดินเราผ่านสวนหินงามตามธรรมชาติหลายจุด ป่าโปร่งเดินสบาย เราหยุดพักกันเป็นระยะพอเงียบเสียงซักครู่ก็จะมีเจ้านกน้อยๆ บินมากันเต็มไปหมด เป็นที่ที่นักดูนกไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง ผมนั่งไม่นานก็เห็นนกพญาไฟใหญ่ทั้งตัวผู้ตัวเมียตั้งหลายตัว นกไต่ไม้ นกแซงแซวฯลฯ แค่นั่งดูก็เพลินแล้วครับ เสียดายแต่ดอกกุหลาบขาว กุหลาบแดง และดอกกายอมที่เป็นดอกไม้พิเศษของที่นี่ยังไม่ออกดอก แต่เราก็ได้ภาพเอื้องสร้อยระย้า กระเจี้ยง เอื้องข้าวตอก ดอกมณีเทวา สรัสจันทร ดอกฮ่อมดอย เทียนป่าฯลฯ มากพอที่จะช่วยให้ระหว่างทางเดินมีอะไรมากกว่าต้นสนกับต้นปรง  

ทะเลภูเขาสุดสายตาที่ดอยเวียงผา

เรามาถึงลานหินใหญ่ที่ผมเล็งไว้ว่าจะเป็นมุมพระอาทิตย์ตก แต่ดูไปดูมาผมว่ามุมนี้กว้างพอที่จะถ่ายภาพได้ทั้งพระอาทิตย์ขึ้น และตกเลยทีเดียว เราเห็นเทือกดอยหลวงเชียงดาวอยู่ในม่านของหมอกแดดทางฝั่งทิศตะวันตก ดูสูงตระหง่านเหนือทิวเขาเบื้องล่างที่สลับซับซ้อนกับไปไกลสุดตา จากจุดชมวิวเราเดินขึ้นไปอีกแป๊บเดียวก็มาถึงจุดสูงสุดที่ความสูง 1,834 เมตรจากระดับน้ำทะเล เวลาประมาณบ่ายสามโมงเย็นแสงแดดนุ่มๆขับให้ดอยฟ้าห่มปกที่อยู่ลิบๆ ทางทิศเหนือดูราวกับภาพวาด บนจุดกางเต็นท์ไม่กว้างขวางมากนัก กำลังดีสำหรับการมาท่องเที่ยวแบบเข้าถึงธรรมชาติจริงๆ ถ้าเพิ่งหมดฤดูฝนซักเดือน ก่อนถึงยอดดอยจะมีลำห้วยเล็กๆพอให้เราใช้น้ำได้สะดวกดี แต่ถ้าเข้าแล้งซักเดือนครึ่งเจ้าหน้าที่ต้องเดินลงไปเอาน้ำกันไกลทีเดียว


หน้าผาแถวนี้มีร่องรอยของเลียงผาอยู่ด้วย เลินบอกว่าเคยเจอกัน 2-3 ครั้ง เพราะดูจากสภาพพื้นที่แบบผาหิน และความอุดมสมบูรณ์แล้วเชื่อว่าเค้าคงอยู่อย่างมีความสุขกว่าไปอยู่ในสวนสัตว์แน่ๆ เรามีเวลาอีกสองชั่วโมงกว่าที่จะเดินไปจุดชมวิวช่วงนี้เข้าฤดูหนาวแล้วฟ้าจะมืดเร็วกว่าฤดูร้อน เราเลยต้องเริ่มเตรียมดินเนอร์กันไว้ก่อนเดี๋ยวมืดมาจะพาลขี้เกียจทำกับข้าวแล้วจะกลายเป็นอาหารญี่ปุ่นกันอีก พอซักพักได้เวลาเราก็ค่อยๆ เดินลงไปตรงจุดชมวิวที่หมายตาเอาไว้ แสงที่ทออ่อนนวลตาทาบทิวเขาเบื้องหน้าที่สลับซับซ้อนให้เกินเป็นทัศนะมิติงดงาม ผมค่อยๆ ถ่ายภาพไปเรื่อยๆ หลายมุมมอง หันไปด้านไหนก็สวยเพราะมุมกว้างมาก ถ่ายไปคุยกันไปเรื่อยจนพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าเราก็ค่อยๆ เดินกลับที่พักกัน มาคราวนี้อากาศไม่หนาวจัดแต่ความเหนื่อยทำให้วงสนทนาดูจะลาเร็วไปกว่าคืนก่อน ผมออกมานั่งดูดาวก็ยังไม่พราวฟ้าเนื่องจากคราวนี้มาตรงวันพระจันทร์เต็มดวงพอดี ว่าแล้วก็ไปนอนเอาแรงเผื่อวันพรุ่งนี้ดีกว่า

น้ำค้างไม่แรงนักเช้านี้เลยไม่ต้องผึ่งเต็นท์กันระหว่างทางลงเราจะผ่านน้ำตกตาดเหมย น้ำตกสูงที่ทิ้งตัวเองผ่านหน้าผาชันจนฟุ้งเหมือนเหมย หรือหมอกบางนั่นเอง เราเดินลงกันอย่างเดียวหลังจากที่ผมพบความอลังการของขุนเขาในความสวยงามที่ลงตัว สนสวยสองต้นยืนเด่นด้วยฟอร์มที่สวยงามที่รับกับทิวเขาเบื้องหลังยามแสงแรกแห่งวันฉายให้เห็น ผมจำไม่ได้ว่าความสวยระดับประทับใจนี่ผ่านมานานกี่มากน้อยแล้ว แต่ที่ยอดดอยแห่งนี้คือที่ที่ผมอยากจะกลับมาอีกครั้ง เส้นทางเดินกลับเราผ่านดงเอนอ้าที่แน่นยิ่งกว่าทางขึ้นเสียดายก็แต่แสงยังไม่พ้นเหลี่ยมเขาขึ้นมาก็ต้องเดินผ่านไปอย่างน่าเสียดาย 

ไม่นานแต่ชันพอควรเราก็มายืนอยู่หน้าน้ำตกตาดเหมยที่ชอุ่มเขียวด้วยแมกไม้ และประดับด้วยดอกเทียนหางที่เต้นไหวไปกับหยดน้ำที่พรมลงมาบนกอ ผมใช้เวลาอยู่ที่นี่นานมาก อาจเป็นเพราะความสวยงาม หรืออาจเป็นเพราะว่านี่เป็นที่สุดท้ายของวันนี้ที่เราจะแวะก่อนที่ผมจะต้องเดินทางกลับเชียงใหม่ ผมเคยคิดว่าป่าไหนๆ ก็เหมือนกัน แต่ดอยเวียงผาให้อะไรกับผมมากกว่าความสวยงาม โดยเฉพาะตัวอุทยานแห่งชาติซึ่งหัวหน้าอุทยานได้ดูแลเป็นอย่างดี อีกทั้งการต้อนรับที่อบอุ่น พี่ๆ เจ้าหน้าที่เป็นกันเอง ทั้งความรู้ และความรับผิดชอบ หากความสวยงามของสถานที่ขาดมิตรภาพที่ดีด้วยแล้วผมเชื่อว่าก็คงเหมือนเราปั้นข้าวนึ่งแต่ขาดน้ำพริกถ้วยโปรดเป็นแน่ 


 อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา 
ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้มาสำรวจและจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติ บริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มนำแม่ฝาง ท้องที่ตำบลศรีดงเย็น ตำบลแม่ทะลบ อำเภอไชยปราการ ตำบลแม่ข่า ตำบลแม่คะ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลาวฝั่งซ้าย ท้องที่ตำบลป่าแดด ตำบลศรีถ้อย ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย โดยให้ชื่อว่า "อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา" คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบให้กรมป่าไม้ดำเนินการจัดตั้ง “อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา” เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2537 มีพื้นที่รับผิดชอบประมาณ 356.778 ตารางกิโลเมตร หรือ 222,986 ไร่

การเดินทาง
รถยนต์ จากตัวเมืองเชียงใหม่ ถนนเชียงใหม่-ฝาง ตามทางหลวงหมายเลข 107 สู่อำเภอไชยปราการ แยกขวามือเข้าหมู่บ้านแม่ขิหล่ายฝาง ตามป้ายบอกเส้นทางจนถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยเวียงผาระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร

หมายเหตุ : การเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ของอุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา ควรติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อสอบถามเส้นทางก่อนทุกครั้ง

ที่พัก อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา มีบ้านพักบริการนักท่องเที่ยว 2 หลัง พักได้ 15-20 คนต่อหลัง มีสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการ สำหรับเต็นท์นักท่องเที่ยวต้องจัดเตรียมมาเอง

การติดต่อ
อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา
  • ตู้ ปณ.14 ปณจ.ไชยปราการ อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ 50320
โทร : 08-7186-2118 , 053-317-535
เรื่อง : นันทพัฒน์  สุรสิงห์โตทอง
ภาพ : นันทพัฒน์  สุรสิงห์โตทอง

Read more

หมี่พันลับแล จ.อุตรดิตถ์


หมี่พันลับแลในซึ้งนึ่งของป้าตา


ป้าตาเคยไปอุตรดิตถ์ อ.ลับแล ได้ไปดูวิธีการทำแผ่นข้าวแคบ ซึ่งเป็นอาหารว่างของชาวลับแล กรรมวิธีก็เริ่มจากการนำข้าวจ้าวเก่ามาหมักค้างคืน โม่จนเป็นแป้ง แล้วนำมาผสมปรุงรส แบบงาดำจะออกรสเค็ม รสพริกแบบเผ็ดน้อย รสพริกแบบจัดจ้าน ละเลงเป็นแผ่นบนปากหม้อที่มีไอร้อน เหมือนข้าวเกรียบปากหม้อ พอแป้งสุกก็ใช้ไม้ม้วนแป้ง ออกมาคลี่ตากลงบนแผงหญ้าคา พอเกือบแห้ง เขาก็จะมีเทคนิคด้วยการใช้ บัวรดน้ำที่ผิวดินให้ไอดินขึ้น แล้วนำแผงที่ตากข้าวแคบมาวางเหนือพื้นดิน ให้ได้ไอดิน ที่จะทำให้แผ่นข้าวแคบหมาดนิ่ม ไม่แห้งกรอบ เพื่อที่แผ่นข้าวแคบสามารถเก็บมาซ้อนๆ กัน โดยแนบติดกัน และลอกออกเป็นแผ่นๆ ได้โดยไม่ฉีกแตก 
ป้าตาถามถึงประวัติความเป็นมาจากชาวลับแล เขาก็บอกว่ามีมาแต่เช่นบรรพบุรุษแล้ว ต่อมาก็พัฒนาเป็นรูปแบบรสชาติต่างๆ ซึ่งสมัยก่อนก็มีแต่แบบรสงาดำออกเค็ม นิยมห่อกับข้าวเหนียวร้อนๆ ต่อมาก็มีรสเผ็ด ใส่หมี่ยำ 

        รสหมี่ยำ กรรมวิธี ก็ลวกเส้นหมี่ ถั่วงอก นำมาปรุงรสด้วย มะนาว ซีอิ้วขาว พริกป่น น้ำตาลทรายเล็กน้อย ปรุงรสออกเปรี้ยวนำ เค็มหวานและเผ็ดเล็กน้อยตามชอบ จากนั้นก็ใส่ใบผักชีฝรั่งซอยฝอยๆ และโรยกระเทียมเจียว เคล้าให้เข้ากันดี ห่อด้วยแผ่นข้าวแคบม้วนเป็นรูปกรวยแหลม ทานได้ทันที หรือชอบแบบร้อนๆ ก็นำไปนึ่งสักครู่เดียว ก็จะได้หมี่พันลับแลร้อนๆ เหนียวนุ่มรสแซ่บ  อ้อ! แผ่นข้าวแคบลับแลมีขายอยู่ที่อุตรดิตถ์ อ.ลับแลจ๊ะ

เรื่อง :  ป้าตา บ้านสวนกลางป่า
ภาพ :  นันทพัฒน์  สุรสิงห์โตทอง

Read more

ภูสอยดาว สายหมอก และดอกไม้

ดอกหวอนนาคจะบานสมบูรณ์ประมาณช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน
ภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์กระจกในระยะ Tele เพื่อให้มิติของภาพดูแน่น และคุณสมบัติของเลนส์กระจกที่ให้ส่วนที่พ้นระยะชัดมีโบเก้แบบวงโดนัทช่วยให้ภาพดูแตกต่างจากใช้เลนส์ Tele ทั่วไป Canon EOS 5D MKII Lens Minolta MD 250 f5.6 

อุตรดิตถ์หลายคนถามผมว่ามีอะไรเที่ยว หลังจากที่ผมบอกว่ามีทริปต้องไป นึกไปนึกมาผมเองก็เคยถามคำถามนี้มาก่อนเหมือนกัน ชัยภูมิมีทุ่งดอกกระเจียว อุบลมีทุ่งดอกดุสิตา เชียงใหม่มีนางพญาเสือโคร่ง แล้วที่เมืองลับแลแห่งนี้ล่ะ ถ้าเราพูดถึงจังหวัดอุตรดิตถ์เชื่อว่าหลายคนกลับนึกถึงเมืองลับแล เรื่องราวเล่าขานถึงตำนานเมืองลับแลในอดีต ที่เป็นเหมือนดินแดนในเทพนิยายไม่ใช่ใครๆ ก็จะสามารถเข้าออกได้โดยง่าย เล่ากันว่าคนที่มีบุญเท่านั้นถึงจะสามารถเข้าไปในเมืองแห่งนี้ได้ มีตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีชายคนหนึ่งเข้าไปในป่าลึก ได้เห็นหญิงสาวหลายคนเดินออกมา นางเหล่านั้นก็เอาใบไม้ที่ถือมาไปซ่อนไว้ในที่ต่างๆ ด้วยความสงสัยชายหนุ่มจึงแอบหยิบใบไม้มาเก็บไว้ใบหนึ่ง ตกบ่ายหญิงสาวเหล่านั้นกลับมาต่างก็หาใบไม้ที่ตนซ่อนไว้ ครั้นได้แล้วก็เดินหายลับไป แต่หญิงสาวคนหนึ่งหาใบไม้ไม่พบ นางวิตกเดือดร้อนมากชายหนุ่มจึงปรากฏตัวให้เห็นและคืนใบไม้ให้โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือขอติดตามนางไปด้วยเพราะปรารถนาจะได้เห็นเมืองลับแล หญิงสาวก็ยินยอม
ชายหนุ่มเห็นว่าทั้งเมืองมีแต่ผู้หญิง นางจึงอธิบายว่าคนที่นี่มีศีลธรรม ถือวาจาสัตย์ ใครประพฤติผิดก็ต้องออกจากหมู่บ้านไป ผู้ชายส่วนมากมักไม่รักษาวาจาสัตย์จึงต้องออกจากหมู่บ้านไปหมด ชายหนุ่มเกิดความรักใคร่ในตัวนางจึงขออาศัยอยู่ด้วย มารดาของหญิงสาวให้ชายหนุ่มสัญญาว่าจะต้องอยู่ในศีลธรรมไม่พูดเท็จ เวลาผ่านไปจนมีบุตรชายด้วยกัน 1 คน วันหนึ่งขณะที่ภรรยาไม่อยู่บ้านชายหนุ่มเลี้ยงบุตรอยู่บ้าน บุตรน้อยเกิดร้องไห้หาแม่ไม่ยอมหยุด ผู้เป็นพ่อจึงปลอบว่า แม่มาแล้วๆ ฝ่ายภรรยาของชายหนุ่มเสียใจมากที่สามีไม่รักษาวาจาสัตย์ เขาจึงต้องออกจากหมู่บ้าน แล้วนางก็จัดหาย่ามใส่เสบียงอาหาร พร้อมทั้งขุดหัวขมิ้นใส่ลงไปด้วยเป็นจำนวนมาก จากนั้นก็ชี้ทางให้ แล้วนางก็กลับไปเมืองลับแล ชายหนุ่มไม่รู้จะทำอย่างไรก็จำต้องเดินทางกลับ ระหว่างทางที่เดินไปนั้นเขารู้สึกว่าถุงย่ามที่ถือมาหนักขึ้นเรื่อย ๆ จึงเอาขมิ้นทิ้งเสียจนเกือบหมด ครั้นเดินทางกลับไปถึงหมู่บ้านเดิม จึงหยิบขมิ้นที่เหลืออยู่เพียงแง่งเดียว ปรากฏว่าขมิ้นนั้นกลับกลายเป็นทองคำ ชายหนุ่มจึงพยายามย้อนไปเพื่อหาขมิ้นที่ทิ้งไว้ ปรากฏว่าขมิ้นเหล่านั้นได้งอกเป็นต้นไปหมดแล้ว 


ทิวเขา และสายหมอก
ภาพนี้ถ่ายจากจุดชมวิวบนภูสอยดาว ใช้เลนส์ช่วง Tele เพื่อดึงภาพให้แน่นขึ้น การถ่ายภาพลักษณะนี้แนะนำให้ใช้ White Balance แบบ Daylight เพื่อเก็บสีของแสงจริงในช่วงเวลานั้น Canon EOS 5DMKII Lens EF70-200 f2.8L IS

แต่คราวนี้เราไม่ได้เดินทางไปตามหาสาวกับเมืองในตำนานนะครับ เราไปตามหาลานสนบนดอยสูงลูกหนึ่งที่เป็นเส้นแบ่งเขต ไทย-ลาว ได้ยินว่ามีทุ่งดอกไม้สีม่วงงามตาจะชูช่องามในช่วงวสันตฤดู แล้วยังสำทับมาอีกว่า ที่นี่เป็นเป็นทุ่งดอกไม้ที่กว้างใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ 

การเดินทางของผมเริ่มขึ้นจากเส้นทางเชียงใหม่-ลำปาง แล้วเลี้ยวไปทางแพร่-เด่นชัย ข้ามเขาอีกหลายลูกก็เข้าเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ ช่วงที่ไปมีฝนโปรยมาตลอดทางให้ผมต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางมากขึ้นกว่าเดิม ไหนจะถนนลื่น แล้วทัศนวิสัยยังไม่ค่อยดีอีกด้วย แต่เราก็มาถึงแยกที่จะเลี้ยวไปน้ำตกชาติตระการ-ภูสอยดาวอย่างปลอดภัย ฟ้ามืดลงแล้ววันพรุ่งนี้เรานัดเจอทีมงาน และสมาชิกจากอนุสาร อสท. อีกกว่า 50 ชีวิตที่จะร่วมเดินทางสู่ยอดภูสอยดาว ทริปนี้คล้ายๆ จะเป็น Photo Trip ย่อมๆ เพราะแต่ละคนที่มาก็จะพกกล้องมาด้วยไม่ว่าจะเป็นกล้อง DSLR หรือ Compact 


ความสดชื่นของผืนป่าฤดูฝน
ดอกเทียนสีม่วงสดที่บานอยู่ริมทาง ผมต้องการเก็บภาพนี้ห้เล่าเรื่่องราวถึงคนเดินทางด้วย จึงเลือกใช้เลนส์ช่วงมุมกว้างเพื่อเก็บภาพให้กว้างกว่าตาเห็น และเข้าไปใกล้ดอกเทียนซึ่งมีขนาดเล็ก โดยใช้รูรับแสงกว้างเพื่อควบคุมให้ภาพมีระยะชัดลึกน้อย คนเดินทางที่เป็นตัวประกอบเรื่องจึงอยู่นอกระยะชัด ส่งผลให้ไม่มาดึงความสนใจของดอกเทียนที่ผมต้องการให้เป็น Subject หลักในภาพ Canon EOS 5DMKII Lens Canon EF16-35 f2.8L

บนหนทางไกล
เสื้อกันฝนหลากสีถูกคลี่ออกมาคลุมตัว ดูเหมือนตุ๊กตาสีหวานเดินกันเต็มลานหน้าน้ำตกภูสอยดาว เช้านี้แสงเช้าไม่มาตามนัด แต่กลับส่งสายฝนโปรยต้อนรับทีมงานเราอย่างชุ่มฉ่ำแทน นึกถึงเวลาที่ใกล้จะต้องเดินทางก็ขอให้ซาเม็ดลงบ้าง เผื่อเส้นทางชันเบื้องหน้าจะยินยอมลดความลื่นลงพอให้ไม่หนักมือเก่ามือใหม่จนเกินไป

“เอ้า...กลุ่มสี่มาถ่ายรูปรวมกัน” เสียงน้องเตียงสาวน้อยอารมณ์ดีเรียกสมาชิกกลุ่มมายืนเรียงหน้าป้ายน้ำตกบันทึกภาพตอนสภาพยังดีก่อนออกเดินทาง ซึ่งสภาพแบบนี้จนวันกลับไม่รู้จะมีอีกรึเปล่า เราเดินเลียบน้ำตกไปเรื่อยๆ ข้ามธารน้ำที่กำลังเชี่ยวตามฤดูกาลของมัน ทางเดินแคบเลาะไปตามผืนป่าอันอุดม ไม้ใหญ่สองข้างทางบางครั้งแค่ลับโค้งทางเดินไม่ไกลก็ไม่สามารถเห็นคนหน้าแล้ว เห็ดขอนขึ้นอยู่ทั่วไปบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี บนตอไม้ล้มข้างทางดอกเทียนออกดอกชูช่อรอให้นักเดินทางได้เก็บความประทับใจ 



กลุ่มเราทั้งแปดคน พร้อมทีมงานประจำกลุ่มอีกสามรวมทั้งผมด้วยเดินคุยกันไปไม่ทันเหนื่อยดีก็เริ่มเห็นป่าไผ่ และเนินแรกที่เราต้องพิชิตไปให้ได้...เนินส่งญาติ แค่ชื่อเนินที่เห็นก็แทบทำเอาพวกเราถอดใจไปตามๆ กัน ทั้งเห็นความชันด้วยแล้วเสียงคุยเจื้อยแจ้วเมื่อซักครู่ก็เงียบสนิท กว่าจะผ่านเนินแรกมาได้หัวใจก็แทบจะออกมาเต้นอยู่ข้างนอก พอมาเห็นชื่อเนินที่สอง...เนินปราบเซียน ก็ไม่เข้าใจว่าใครมาตั้งชื่อไว้ให้เป็นกำลังใจกันดีเหลือเกิน ผมเองใจชื้นขึ้นหน่อยก็เพราะไอ้เราไม่ใช่เซียน อย่างมากก็คงพักบ่อยหน่อยเท่านั้นเอง และแล้วเราก็มาถึงเนินป่าก่อ เป็นผืนป่าดิบเขาด้วยผลจากต้นก่อบางชนิดเราสามารถนำมากินได้ และยังมีประโยชน์สูงอีกด้วย ที่บ้านเราเรียก ต้นก่อ แต่ถ้าเป็นไม้ชนิดเดียวกันในต่างประเทศจะเรียกว่า ต้นโอ๊ก นั่นเอง เมื่อมาถึงเนินป่าก่อก็ดีใจได้ว่าเราเดินมาประมาณครึ่งทางแล้ว เนินต่อไปคือเนินเสือโคร่ง ชื่อเนินก็ตีความได้ 2 อย่างคือเสือที่เป็นสัตว์ หรือเสือที่เป็นพืชพวกเราก็ขอให้เป็นพืชละกัน เพราะถ้าเจอตัวเป็นๆ อย่าว่าแต่จะวิ่งหนีเลย คงพร้อมใจนั่งมันตรงนั้นให้คุณเสือเค้าเดินมาเลือกกินได้ตามใจชอบเพราะแค่นี้ก็จะหมดแรงกันอยู่แล้ว ดีที่เนินแห่งนี้ตั้งชื่อตามไม้ชนิดหนึ่งที่ชื่อ กำลังเสือโคร่ง ซึ่งถือเป็นยาสมุนไพรเปลือกมีกลิ่นคล้ายการบูรช่วยเจริญอาหาร ขับลม บำรุงเส้นเอ็น แก้ปวดเมื่อย ชาวบ้านจึงถากเปลือกไปต้มยาอยู่บ่อยๆ แต่บางครั้งถากมากเกินจนเหลือแต่แก่นไม่มีทางลำเลียงอาหารไปเลี้ยงต้นต้องยืนต้นตายก็มี
สายหมอกงามกับต้นก่อที่ขึ้นเรียงกันสวยงามในม่านหมอก
ภาพนี้ต้องการเก็บบรรยากาศการเดินทางจึงเลือกใช้เลนส์มุมกว้าง และในภาพมีหมอกซึ่งเป็นโทนสีขาว จึงต้องชดเชยกล้องให้โอเวอร์ประมาณ 1 stop Canon EOS 5 DMKII Lens EF16-35 f2.8L

เบื้องหน้าของเราก็คือเนินสุดท้าย...เนินมรณะ ใครคิดชื่อ อยากจะเดินไปถามจริงๆ ก็หนทางเล่นชันดิ่วไปแบบเห็นยอดกับทางเป็นเส้นท่าจะหายใจกันหลายหอบกว่าจะถึงลานสน ว่าแล้วพวกเราก็ต้องก้มหน้าเดินไปตามยถากรรม อุปกรณ์กล้องบนหลังทำให้นึกถึงตำนานเมืองลับแลที่แบกขมิ้นมากลางป่าพอหนักก็โยนทิ้ง แต่ถึงบ้านแล้วกลายเป็นทอง กล้องในกระเป๋าเราถ้าไปถึงยอดแล้วกลายเป็นทองก็ท่าจะดี แต่นี่จะทิ้งก็ทิ้งไม่ได้ยิ่งเดินก็ยิ่งหนัก ก้าวแรกที่มาถึงสันเนิน ดอกแตรวง หรือลิลลี่เมืองไทยก็อวดโฉมให้ชื่นตาอยู่ไม่ไกลเดินมาอีกนิดเจ้าว่านไก่แดงก็รอต้อนรับอยู่บนคบไม้ให้ชื่นใจ พ้นเนินสุดท้ายทิวสนที่โอบอุ้มอยู่รอบตัวเหมือนกรอบภาพงามขับให้ดอกหงอนนาคที่ชูช่อม่วงงามอร่ามทั้งทุ่งสวยเด่นยิ่งกว่าคำล่ำลือ สายลมที่พัดปลิวเหมือนให้ผมโยนความเหนื่อยของระยะทางกว่า 6 กิโลเมตรทิ้งไปแบบไม่ใยดี

เราเดินผ่านกลางทุ่งหงอนนาคเพื่อไปยังจุดพักแรมบ้างก็หยุดถ่ายภาพหมู่บ้างเดี่ยวบ้างกันตามสบายเพราะเรามาถึงลานสนแห่งนี้เลยเวลาช่วงตะวันตรงหัวไปไม่นาน การเดินทางครั้งนี้เราได้ทีมงานมืออาชีพจาก นักเดินทาง.คอม (www.nakderntang.com) มาคอยดูแลเรื่องความสะดวกต่างๆ ทั้งที่พัก อุปกรณ์ส่วนกลาง รวมทั้งอาหารการกิน เรียกว่าได้มืออาชีพมาจัดการ เราก็ตั้งหน้าตั้งตาถ่ายภาพกันได้ทั้งวันแบบท้องอิ่มนอนอุ่น สุขใดจะเท่าบนลานดอกไม้สวยๆ แห่งนี้
การถ่ายภาพน้ำตกเราสามารถใช้ได้ทั้งความเร็วชัตเตอร์ต่ำเพื่อให้สายน้ำดูนุ่มนวล หรือจะใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงเพื่อให้สายน้ำดูรุนแรงก็ได้ แต่ในภาพนี้ผมเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเพราะอยากได้ภาพที่ดูอบอุ่นนุ่มนวล และเลือกที่จะให้เพื่อนไปนั่งอยู่มุมซ้ายด้านบน เพื่อให้ภาพนี้ดูมีชีวิต และเรื่องราวมากขึ้น Canon EOS 5 DMKII Lens 16-35 f2.8L + PL

บนหินสวย และน้ำใส
แทบไม่น่าเชื่อว่ามื้อค่ำเมื่อวานเรานั่งสังสรรค์กันรอบวงหมูกระทะกลางป่าสนภูสอยดาวด้วยความสามารถของทีมนักเดินทางดอทคอมที่ช่วยให้เราอิ่มอร่อยเป็นพิเศษ หลังอาหารเช้ามื้อนี้เราเลยพร้อมใช้พลังงานเต็มที่ด้วยการไปเดินชมน้ำตกสายทิพย์กัน เราเดินกันจากที่พักไม่นานก็ถึงทางแยกลงไปน้ำตก ทางเดินค่อนข้างชัน แต่เดินไม่ยากแต่ถ้าฝนตกก็คงมีลื่นกันบ้างแน่นอน เราเดินแถวตอนเรียงหนึ่งไปอย่างเป็นระเบียบ เพราะทางค่อนข้างแคบ เผลอไม่นานเราก็มายืนอยู่หน้าน้ำตกชั้นแรก หินก้อนเล็กก้อนน้อยที่เขียวสดไปด้วยตะไคร่น้ำ สายน้ำตกที่ลดหลั่นกันลงมาเป็นชั้น อิงแอบกับผืนป่าใหญ่ น้ำเย็นเฉียบที่เราวักมาลูบหน้าจากสายน้ำตกขนาดเล็กแต่น่ารักกลางลำนำแห่งขุนเขาเรียกว่าเล็กๆ แต่มากด้วยความสวยงาม แต่ละชั้นของความลึกที่เพิ่มขึ้นความสวยงามก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด เสียงชัตเตอร์ดังระงมตามลานหินใหญ่น้อย แข่งกับเสียงน้ำที่เซาะโตรกหินเขียวชอุ่ม ความสวยงามที่บันทึกลงบนแผ่นฟิล์ม และการ์ดดิจิตอลยังไม่เท่าความสดชื่นที่ได้รับ 


น้ำตกขนาดเล็ก แต่สวยงามมากในช่วงฤดูฝน
ภาพนี้ผมถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม เลือกครอปเฉพาะมุมเพื่อให้ดูน่าสนใจมากขึ้น Hasselblad 500cm Lens 150mm f4 Film Fuji Velvia50

เราขึ้นมาจากน้ำตกก็เกือบบ่ายสามโมงแล้ว เวลาที่เหลือของวันก็หมดไปกับทุ่งดอกไม้ และจุดชมวิว การมาเที่ยวป่าหน้าฝนก็เหมือนกับเราได้มาดูความสดใสของฤดูแห่งความสมบูรณ์ พืชพรรณต่างๆ ได้รับการฟูมฟัก และฟื้นตัวอย่างเต็มที่ หลายอุทยานถือโอกาสช่วงฤดูฝนปิดตัวลงเพื่อให้พื้นที่ได้ฟื้นตัวอีกครั้ง แต่สำหรับภูสอยดาวช่วงที่ดอกไม้จะบานเต็มทุ่งก็เริ่มตั้งแต่ประมาณปลายเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป และจะผลัดเปลี่ยนกันไปจนย่างเข้าฤดูหนาว การมาเที่ยวชมก็จึงหนีไม่พ้นช่วงกลางฤดูฝนเช่นนี้


เต๊นท์นักท่องเที่ยวจำนวนมากที่กางท้าไอหมอกที่เริ่มก่อตัวคู่กับความหนาวเย็นของค่ำคืน

ปลายฟ้าเริ่มห่อคลุมด้วยความมืดมิดอีกครั้ง เมฆตีจากชายฟ้าให้หวิวใจในวันพรุ่งว่าจะได้ฟ้าใสแดดสวย หรือจะปกคลุมด้วยม่านฝน และสายหมอก วงสนทนาจากเพื่อนมิตรเริ่มจางเสียงลงตามเข็มนาฬิกา ปล่อยให้ราตรีนี้เริ่มต้นหลังจากม่านตาที่ปิดลง



ในวันที่ฝนพรำ

        หากฤดูกาลไม่มีผันเปลี่ยน เชื่อว่าความหลากหลายทางชีวภาพก็คงไม่ต่างกับทะเลทราย เช้านี้หมอกฝนลอยอ้อยอิ่งแนบตัวคล้ายผ้าห่มผืนบางให้หนาวกายแต่อุ่นใจ เตาแก๊สขนาดพกพาถูกจุดขึ้นอีกครั้ง แข่งกับแสงที่ยังไม่ช่วยให้มองเห็นลายมือชัดนัก กาน้ำร้อนที่เดือดพร่างเร่งให้เราอุ้มถ้วยสแตนเลสมาผิงมือ แม้ไม่หนาวหนักเหมือนหน้าหนาว แต่ก็พอให้รับรู้ถึงคุณค่าของเสื้อกันหนาวตัวเก่าที่ไม่เคยห่างจากเป้เดินทาง

ผมมากางเต็นท์ห่างจากแคมป์พักแรมของชาวคณะ อสท. ไม่ไกลนัก เพียงข้ามลำห้วยน้อยที่เมื่อวานน้ำยังเซาะตลิ่งไม่สูงนัก สะพานไม้แคบๆ ที่พาเราข้ามมายังเหลือพื้นที่อีกกว่าฟุตก่อนจะถึงน้ำ อาหารเช้าวันนี้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ปลาทูทอด กับน้ำพริกแมงดา แกล้มลูกสะตอสด อาหารรสเด็ดจากแดนใต้ แต่มากินที่ยอดดอยสูงทางเหนือนี่ก็ให้รสชาติที่อร่อยลิ้นไปอีกแบบ กับเจ๊แมวเจ้าแห่งตู้เสบียงเคลื่อนที่ ถ้าทริปไหนมีเจ๊ไปด้วยขอบอกเลยว่าไม่มีอด แถมอร่อยอีกต่างหาก

วันนี้ทีม อสท. ว่าจะไปเดินชมทุ่งหงอนนาคที่กำลังบานสะพรั่งทางฝั่งชายแดนไทย-ลาว พูดซะเหมือนต้องเดินทางไกล แต่เปล่าเลยครับ จากที่พักไปไม่เกิน 500 เมตรเราก็มาถึงหลักเขตแดน ไทย-ลาว ให้ถ่ายภาพเล่นกันอย่างจุใจแล้ว แต่ฟ้าวันนี้ดูเหมือนไม่ค่อยจะเป็นใจ ฝนเริ่มโปรยปรายมาจางเม็ด ทีมงานใส่เสื้อกันฝนกันเสร็จเรียบร้อยก็เริ่มออกเดิน แต่ไปยังไม่ถึงไหนฝนก็ตงมาห่าใหญ่แบบไม่ลืมหูลืมตา ตอนแรกก็นึกว่าจะปรอยๆ พอให้ไปถ่ายมิวสิคกันได้ แต่กลายเป็นต้องหาที่หลบฝนกันจ้าหละหวั่น 

ซักพักใหญ่ๆ ดูท่าฝนจะไม่ยอมหยุดตก ตรงที่กางเต็นท์ก็ทำท่าเหมือนจะอยู่กลางธารน้ำ แม้ว่าเราจะทำร่องระบายน้ำไว้แล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา หลายแรงแข็งขันแข่งกับฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง พวกเราช่วยกันขุดร่องน้ำเพิ่ม อีกเสียงก็ตะโกนมาจากฝั่งสะพานที่เราเดินข้ามไปมาว่า “น้ำท่วมสะพานแล้ว” ต่างคนก็ต่างช่วยกันแบ่งไปยืนเป็นหลักเพื่อคอยช่วยประคองคนที่ต้องการจะข้าม ทุลักทุเลกันพอสมควร แต่ก็สนุกสนานกันกลางสายฝนที่ยังตกมาแบบไม่ยอมซาเม็ด หากใครไม่เคยออกจากห้องแอร์คงไม่รู้ว่าพวกนี้เค้าไปทำอะไรกันในป่าในเขาให้เหนื่อยยากสังขาร แต่คนที่เคยสัมผัสกลิ่นหมอก ได้ผิงไอแดดจากแสงแรกแห่งวัน ที่แม้จะเป็นดวงอาทิตย์ดวงเดียวกัน แต่ความต่างของความรู้สึกเชื่อว่าคงยากที่จะเปรียบกัน
เย็นวันนั้น
ธรรมชาติไม่เคยโหดร้ายกับเราตลอดเวลา หากแต่บางครั้งก็ให้รางวัลกับคนที่พร้อมที่จะรอ เมื่อฝนซาเม็ดเมื่อตะวันบ่ายสายหมอกที่ลอยอ้อยอิ่งคลอเคลียกลีบดอกบางที่ช้ำฝน พวกเราสาวเท้าไปตามทางเดิม เห็นหลักแบ่งเขตไทย-ลาวอยู่ไม่ไกล แถวนี้ดอกหงอนนาค และดอกเอนอ้าบานเต็มทุ่งมากกว่าลานสนบริเวณที่พัก พวกเราแต่ละกลุ่มเริ่มวาดลวดลายโพสท่ากันท่ามกลางหมู่พฤกษาสนุกสนานทั้งคนถ่ายภาพ และคนถูกถ่าย บ้างก็ไปปลีกวิเวกขลุกกับดอกไม้สวยๆ ยามฉ่ำฝน 

เราเดินลัดเลาะกันไปเรื่อยๆ ตามเส้นทางเพื่อให้มาถึงจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกทันช่วงเย็น แม้ว่าแสงจะไม่ค่อยมีเพราะเมฆบางๆ คลุมหมอกอยู่ทั่วฟ้า แต่ที่ชายเขาเบื้องหน้ากลับเปิดเป็นช่อง เราก็ได้แต่หวังให้ลมพัดพาเจ้าเมฆก้อนนี้ให้ห่างออกไปซักหน่อย เพื่อวันสุดท้ายนี้จะได้ชมพระอาทิตย์ตกได้อย่างใจหวัง 

กล้องที่หยิบออกจากกระเป๋า ณ จุดชมวิวเวลานี้คงเป็นรางวัลสำหรับความพยามยาม เพราะเบื้องหน้าคือแสงสุดท้ายของวันที่สาดส่องออกมาจากชายเมฆ ฤดูนี้หากจังหวะไม่เป็นใจเราอาจไม่ได้เห็นอะไรนอกจากฝนกับฝน แต่หากสภาพอากาศเป็นใจ ฟ้าหลังฝนก็มักสวยงามเสมอ


ภาพแนวนี้ควรจัดองค์ประกอบให้ส่วนทิวเขาด้านล่างที่ค่อนข้างมืด หรืออาจเป็นเงาดำให้มีอัตราส่วนประมาณ 1ใน 3 ของภาพ และมุมนี้เป็นมุมย้อนแสงจึงต้องชดเชยกล้องให้โอเวอร์ประมาณ 1.5 stop ภาพนี้ผมใช้ฟิลเตอร์ Lee Graduate สีเทาเพื่อช่วยลดแสงจากท้องฟ้าด้านบนลงด้วย



เสียงแจ้วๆ ของสาวๆ ทีมงานนักเดินทางดอทคอมทำเอาพวกเราหันไปมองเป็นตาเดียวกัน “มันต้มขิงร้อนๆ จ้า” ใครจะคิดว่าริมหน้าผาเวลาลมหนาวพัดมาแต่เรามีมันต้มขิงมาบรรเทาความเย็นของอากาศแบบถึงที่ถึงชายผา คนละตักสองตักไม่ได้ทำให้อิ่มได้ แต่สิ่งที่เราได้คือประทับใจในความรอบคอบ และความเป็นมืออาชีพของทีมงานนั่นเอง
เคยบ้างไหม
เคยบ้างไหมถ้าเรานั่งนึกถึงวันเวลาที่มีความสุขว่าทำไมมันช่างผ่านไปรวดเร็วนัก แต่เวลาที่เราต้องนั่งหลังแข็งอยู่ที่โต๊ะทำงานมันช่างช้าซะเหลือเกิน คืนนี้ก็เป็นคืนสุดท้ายบนดอยแห่งนี้ พรุ่งนี้ก็จะเก็บเกี่ยวความทรงจำดีๆ ไปตามรายทางที่เมื่อสามวันก่อนเราได้ย่ำผ่านมา บนเส้นทางของสายหมอก และดอกไม้ 
แสงสุดท้ายที่เราแทบมองไม่เห็น
แสงสุดท้ายของวันที่เราแทบมองไม่เห็น ภาพนี้ผมเก็บภาพเกือบหนึ่งนาที และใช้ฟิลเตอร์ Lee Graduate สีเทาร่วมด้วย เพื่อลดแสงจากท้องฟ้า ให้เห็นสายหมอกที่เริ่มก่อตัวเรี่ยดิน Canon EOS 5 DMKII EF 16-35 f2.8L 

การเดินทางมาท่องเที่ยวบนลานสนภูสอยดาวนี้ คือส่วนหนึ่งของอุทยาแห่งชาติภูสอยดาว แต่ไม่ใช่ขึ้นยอดภูสอยดาว ยอดภูสอยดาวคือยอดที่เห็นอยู่ในม่านหมอกเบื้องหน้า ที่มีความสูง 2,102 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งสูงเป็นอันดับสี่ของประเทศรองจาก ดอยอินทนนท์ ดอยผ้าห่มปก และดอยหลวงเชียงดาว




ขอขอบคุณ
1.  ทีมงานนักเดินทางดอทคอม  www.nakderntang.com
2.  ทีมงานอนุสาร อสท.
3.  ตำนานเมืองลับแล  www.baanmaha.com

เรื่อง :  นันทพัฒน์  สุรสิงห์โตทอง
ภาพ :  นันทพัฒน์  สุรสิงห์โตทอง




Read more