About

จุดชมวิวดอยสุเทพ-ปุย


Sony nex7 Lens 55-210


กลางฤดูฝน ผมแวะขึ้นไปที่จุดชมวิวดอยสุเทพ-ปุย แม้ว่าจะเสี่ยงกับความผิดหวัง ไม่ว่าจะฟ้าปิด หรืออาจเจอกับสายฝนโปรยปราย แต่อีกมุมหนึ่งผมอาจได้แสงสวยๆ ที่แอบเล็ดลอดออกมาจากชายเมฆให้ชื่นใจเหมือนครั้งนี้ ช่วงเวลาสั้นๆ เพียงประมาณ 2-3 นาทีที่แสงสาดมายังเทือกดอยเบื้องหน้า สีสันยามสะท้อนกับละออกฝนที่พรมลงบนยอดดอยช่วยสร้างความสวยงาม และมิติให้กับภาพได้อย่างลงตัว
ผมเลือกที่จะหยิบเลนส์เทเลช่วง 55-210 ติดกับกล้อง nex7 ที่ผมเลือกใช้กล้องตัวเล็กๆ กับเลนส์ราคาประหยัด เพราะวันสบายๆ ที่เพียงแค่แวะมาสูดอากาศสดชื่นคงไม่มีใครอยากแบกกล้องชุดใหญ่โตมาแน่ๆ และเจ้าตัวเล็กชุดนี้ก็ให้คุณภาพได้ดีเพียงพอที่จะใช้งานลงสื่อสิ่งพิมพ์ทั่วๆ ไปได้อย่างดีแล้ว
ภาพนี้ไม่มีเทคนิคอะไรมากครับ เห็นแบบไหนก็ถ่ายไปแบบนั้น อ้อ ผมเลือกตั้ง WB เป็น Daylight นะครับ ส่วนมากผมจะไม่ค่อยตั้งไปที่ AWB เพราะสภาพแสงสวยๆ ของธรรมชาติจะถูกกล้องปรับให้กลายเป็นแสงสีแบบธรรมดา ดูซีดๆ ไป ซึ่งผมชอบแสงแบบที่ตาเห็นมากกว่าครับ
ใครมาเที่ยวถึงดอยสุเทพแล้ว นอกจากแวะน้ำตก แวะไหว้พระเพื่อเป็นศิริมงคล แวะหมู่บ้านม้งดอยปุย ก็ลองขับรถเลี้ยวขวาขึ้นมาอีกหน่อยก็จะเจอจุดชมวิวที่ว่า ทางอาจจะแคบซักนิดก็ขอให้ระมัดระวังกันมากๆ หน่อยนะครับ

เรื่อง/ภาพ : นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง

Read more

Sony RX100 mini Review แบบบ้านๆ

Sony RX100 เป็นกล้อง Compact คุณภาพดีมาก เหมาะกับการใช้ถ่ายภาพทั่วไปๆ ได้อย่างดี

เรื่องข้อมูลเชิงลึกผมไม่เอามาลงในนี้นะครับ เพราะหาดูได้กับทุกเวปอยู่แล้ว ผมขอรีวิวแบบบ้านๆ ไปเรื่อยดีกว่าที่จะมาเขียนเชิงวิชาการให้ปวดหัวกัน
กล้องคอมแพคสมัยนี้พัฒนาไปมาก เริ่มมีการนำ sensor ขนาดใหญ่ขึ้นกว่าสมัยก่อนมาใช้ ซึ่งทำให้คุณภาพสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเวลาที่เราต้องใช้ ISO สูงๆ อีกทั้งระบบประมาลผลที่ได้รับการพัฒนาไปมากยิ่งทำให้ภาพถ่ายจากกล้องเล็กๆ ทุกวันนี้ประมาทไม่ได้ เจ้า RX100 ตัวนี้ก็เช่นกันครับ ด้วยขนาด sensor CMOS ขนาด 1 นิ้ว ที่ใหญ่กว่ากล้องคอมแพคทั่วไปหลายเท่า อีกทั้งเลนส์ 28-100 f1.8-4.9 คุณภาพสูงจาก Carl Zeiss Vario-Sonnar T*  ที่ออกแบบช่วงเลนส์ได้น่าใช้ และรูรับแสงช่วงมุมกว้างที่สว่างมาก

Sony RX100 f1.8
ทดสอบแบบโหดๆ ด้วยการถ่ายผ่านกระจกมองข้าง สภาพแสงน้อยมาก
ผมพาเจ้าตัวเล็กไปเดินเล่นหลายๆ ที่เพราะความเล็กเบาของมัน ทำเอาแทบลืมกล้อง DSLR ไปพักหนึ่ง คุณภาพของภาพยังสู้กล้องใหญ่ไม่ได้ แต่สำหรับวันสบายๆ คงปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องมีเจ้า RX100 ติดกระเป๋าไปด้วย ผมเริ่มจากคืนวันเสาร์ที่เชียงใหม่มีถนนคนเดินวัวลาย โดยเลือกเวลาไปตั้งแต่หกโมงเย็นเพราะยังพอมีแสงจากท้องฟ้าสีเข้มๆ ให้ผสมแสง ด้วยเลนส์รูรับแสงกว้าง 1.8 ทำให้ผมเลือกที่จะใช้โหมด A เพื่อควบคุมรูรับแสงเอง เดิน Snap ไปเรื่อยๆ ลอง Shot ยากๆ หลายภาพเช่นภาพคุณลุงที่เล่นไวโอลิน โดยเลือกถ่ายภาพสะท้อนจากกระจกข้างของรถมอเตอร์ไซด์พ่วงข้าง ระบบโฟกัสแบบจับใบหน้าของเจ้า Sony RX100 ทำได้ดีมากครับ ไม่พลาดสำหรับภาพนี้แม้เปิดรูรับแสงที่ 1.8 ระบบวัดแสงไว้ใจได้ จะมีก็สีเหลืองที่ดู Drop ไปหน่อย แต่ไม่ใช่ปัญหาครับเดี๋ยวนี้ยุคดิจิตอลแก้ง่ายมาก

ช่วงเทเลให้คุณภาพพอใช้ได้
เรื่องสัญญาณรบกวนทำได้ดีตามแบบฉบับ Sony ยุคใหม่ที่ผมติดใจตั้งแต่กล้องตระกูล Nex มาตัวนี้ทำได้น่าประทับใจมากครับ ที่ 80-800 ใช้ได้สบายๆ ที่ 1600 ใช้ได้สบายๆ แม้ว่าจะเริ่มเห็น noise และคอนทราสลดลงบ้างก็ตาม ที่ 3200 รับได้ครับสำหรับกล้องตัวแค่นี้และความละเอียดระดับ 20 ล้านพิกเซล ทำได้ดีกว่ากล้องคอมแพคเกือบทุกตัว แต่อย่าเพิ่งไปเทียบกับ Canon G1X นะครับเพราะขนาด Sensor ต่างกันพอสมควร ที่ 12800-25600 ยังไม่ได้ลองครับ เพราะไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหนให้มืดขนาดนั้นแล้วต้องถ่ายภาพ ถ้าต้องการคุณภาพแนะนำให้ใช้ได้ถึง 1600 ที่ 3200 ถือว่าดีครับ

ถ้าแสงดีๆ ใช้รูรับแสงกลางๆ ให้คุณภาพของภาพที่ดีมาก
ช่วงเลนส์ที่ให้มาคือ 28-100 เป็นช่วงที่ใช้งานสนุกดี แต่ถ้าลงได้ถึง 24 จะดีมาก คุณภาพของภาพจากเลนส์ชุดนี้ทำได้ดี เพราะ Sony ใช้เลนส์คุณภาพสูงจาก Carl Zeiss ที่ f1.8 ท่ี่กลางภาพดีทีเดียว ขอบภาพฟุ้งบ้างตามประสาเลนส์รูรับแสงกว้าง แต่ยังใช้งานแบบหวังผลได้ หรี่ลงมาซัก f2.8-4 คมขึ้นมาแบบเห็นได้ชัด ดีที่สุดอยู่ประมาณ f4-5.6 ครับ ส่วนที่ f11 คุณภาพลดลงมาก ความคมชัดด้อยกว่า f1.8 แต่ก็ได้ชัดลึกมาแทน แนะนำว่าเลี่ยงที่ f11 จะดีกว่าครับ ถ้าจะว่าถึงคุณภาพเลนส์กันจริงๆ แล้ว ตัวนี้ก็ไม่ได้โดดเด่นเหมือนกับเลนส์ตระกูล Carl ziess อีกหลายๆ ตัว แต่ถ้าเทียบกับกล้องตัวเล็กๆ ก็โอเคล่ะครับ อย่านำไปเทียบกับเลนส์สำหรับพวก DSLR ก็พอ

สถานที่ ยางคำรีสอร์ท เชียงใหม่
เลนส์ 28mm f1.8 ช่วยให้การถ่ายภาพสนุกขึ้นอีกมาก 
ทีนี้กล้องเล็กๆ แบบนี้มันไม่มีช่องมอภาพแบบกล้องใหญ่ เราต้องอาศัยจอหลังกล้องเป็นหลัก หลายๆ ตัวพอออกแดดก็เกิดอาการมองไม่ค่อยเห็น ซึ่ง Sony แก้โจทย์มาดีมาก ด้วยจอภาพขนาด 3 นิ้ว ความละเอียด 1228.8K-dot และเทคโนโลยี 'WhiteMagic' LCD screen ช่วยได้อย่างมากครับ คมชัดสีสันดี และเราสามารถปรับความสว่างเอง และสีของจอได้ หรือจะตั้งออโตเหมือนผมก็ให้ค่าที่ดีพอใช้ได้ครับ สีจากจอหลังกล้องจะสดกว่าภาพจริงเล็กน้อยซึ่งก็เป็นเรื่องปรกติ

เก็บรายละเอียดได้ดี ถ่ายทอดสีสันได้น่าพอใจ
ส่วนมากพวกกล้องเล็กๆ มักจะมีปัญหาเรื่องแบตเตอรี่หมดเร็ว RX100 เคลมว่าใช้ได้ประมาณ 330 shot ถ้าเป็นสมัยก่อนก็เหมือนกับเราถ่ายภาพได้เกือบ 10 ม้วน ถือว่าไม่น้อยเลย แต่เดี๋ยวนี้เราไม่ต้องห่วงเรื่องค่าฟิล์มค่าล้างอัดเหมือนสมัยฟิล์ม ประมาณว่ากดไว้ก่อนมาเลือกทีหลัง ทำให้หลายๆ คนอาจรู้สึกว่า 330 Shot ดูน้อย แต่ถ้าเทียบกับกล้องคอมแพคทั่วไปก็สามารถใช้ได้สบายๆ ถ้าให้สบายใจ หรือต้องเดินทางไกลก็ควรหาแบตเตอรี่สำรองไว้อีกซักก้อนกันเหนียวไว้ก่อน

กล้อง Sony RX100
สามารถตั้งค่าต่างๆ ได้เหมือนกล้อง DSLR ช่วยให้สร้างสรรภาพได้หลากหลาย

ส่วนพวกลูกเล่นต่างๆ ผมไม่ค่อยได้ใช้ แต่ทาง Sony ก็จัดมาให้เต็มที่ไม่แพ้เจ้าอื่น ผมเองด้วยเป็นคนรุ่นโบราณจึงใช้พวกนี้ไม่ค่อยเป็นเท่าไหร่ 555 เอาเป็นว่าอยากให้ลองไปจับตัวจริงเสียงจริงของเจ้า Sony RX100 กันดูก่อนนะครับ เผื่อจะติดใจงอมแงมเหมือนผมก็ได้

        ส่วนเรื่องรายละเอียดกล้อง พวกช่วงเลนส์ระบบต่างๆ ผมไม่เอามาไว้ในนี้นะครับ บอกแล้วว่า Review แบบบ้านๆ ครับ อิ อิ

AWB ทำงานได้ดี แต่บางสถานการณ์อาจต้องมาปรับแก้สีบ้างเล็กน้อย
ขอขอบคุณ
- น้องส้มที่มาเป็นแบบ
- ยางคำรีสอร์ท เชียงใหม่
- Photobug Chiang mai
               
เรื่อง/ภาพ นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง




Read more

ซี่โครงแกะซอสกระเพรา


ต้นตำรับเบียร์วุ้นแก้วแช่ อาหารแนะนำ
        
        ช่วงบ่ายๆ ของวันนี้ผมมีโอกาสได้ไปถ่ายภาพอาหารแนะนำของร้านอาหารสามเสนวิลล่า ที่จะนำมาเป็นเมนูเด็ดทั้ง 6 รายการ เรื่องรสชาติอาหารสำหรับที่นี่ไม่ต้องเป็นห่วง รับประกันมาตั้งแต่ปี 2521ตอนร้านเปิดผมเพิ่งขวบเดียวเอง ถ้าไม่ดีจริงคงไม่ยืนยาวมาขนาดนี้แน่ๆ อีกทั้งยังเปิดสาขาเพิ่มอีก 2 สาขารวมเป็น 3 สาขาในปัจจุบัน บ่นนอกเรื่องมาซะตั้งนาน เอาเป็นว่าเรามาดูเมนูแรกกันก่อนเลยดีกว่า ที่ว่ามาดูเพราะถ้าใครอยากชิมต้องรอต้นเดือนกันยายน 55 นะครับ สำหรับจานนี้เสร็จผมไปแล้ว ขอบอกว่าของเค้าเด็ดจริง
        “ซี่โครงแกะซอสกระเพรา” ทีเด็ดของวันนี้ ไหนๆ กาลเวลาก็เปลี่ยนไปการที่เราจะหาอาหาร Fusion ชิมซักจานไม่ใช่เรื่องยากในปัจจุบัน เพราะหลายๆ ร้านก็จะมีอาหารแนวนี้บรรจุอยู่ในเมนูให้เราเป็นเรื่องปรกติ แต่ทำไมผมถึงเลือกจานนี้มาแนะนำก่อน ก็เพราะเจ้าแกะ หรือซี่โครงแกะนั้นเป็นเนื้อสัตว์ประเภทที่มีกลิ่นเฉพาะตัว บางคนก็ชอบ บางคนก็ว่าไม่ชอบ ร้านบางร้านทำไม่ดีก็จะกลายเป็นกลิ่นสาบให้เสียอรรถรสไปง่ายๆ แต่สำหรับจานนี้ร้านอาหารเก่าแก่ดั้งเดิมอย่างร้านอาหารสามเสนวิลล่าไม่ปล่อยให้พลาดแน่นอนด้วย ซอสกระเพราถึงเครื่องสูตรพิเศษที่วางตัวให้มาประกบคู่กับซี่โครงแกะที่ผ่านการคลุกเคล้าเครื่องเทศ และย่างมาอย่างพอดิบพอดี หอมอร่อยด้วยเครื่องเทศแบบไทยประยุกต์ ที่เป็นสูตรเฉพาะสำหรับจานนี้ที่นุ่มเข้าเนื้อแกะ เป็นการ Mix and match ที่ลงตัว ข้าวผัดกระเทียมที่เคียงมานั้นก็ช่วยดึงรสชาติความหอมขึ้นอีกด้วย
        พูดไปก็คงเห็นแค่ภาพ แต่เรื่องรสชาตินี่บอกกันไม่ได้จริงๆ เรื่องราคายังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าร้านนี้เน้นคุณภาพเกินราคาเสมอคงไม่ทำให้ผิดหวังอีกแน่นอนครับ ถ้าใครว่างก็ลองแวะไปชิมดูได้ในเดือนกันยายน ปีนี้ครับ

เรื่อง/ภาพ : นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง

Read more

เบียร์วุ้นแก้วแช่ ร้านอาหารสามเสนวิลล่า ความสดชื่นที่เริ่มมาตั้งแต่ 2521

เบียร์เย็นจัดจนคล้าย เบียร์หิมะ
เบียร์วุ้นแก้วแช่ ร้านอาหารสามเสนวิลล่า
        

        ถ้าจะย้อนเวลาไปหยิบเบียร์วุ้นขวดแรกที่เป็นต้นตำนานของ “เบียร์วุ้นแก้วแช่” ทีเด็ดประจำร้านอาหารสามเสนวิลล่าแล้วล่ะก็ คงมีคนคิดว่านั่นต้องผ่านกระบวนการคิดให้เป็นเบียร์วุ้นที่สมบูรณ์แบบสำหรับคอเบียร์บ้านเราเป็นแน่แท้ แต่จริงๆ แล้วหากจะกล่าวว่าเกิดจากความบังเอิญก็คงไม่ผิดนัก ด้วยความที่บ้านเราเป็นเมืองร้อนเวลาทานเครื่องดื่มก็มักจะต้องแช่เย็น หรือใส่น้ำแข็งให้เย็นชื่นใจ จะด้วยความพอดี หรือเกินพอดีก็ไม่ทราบได้ เจ้าเบียร์ชุดหนึ่่งในตู้แช่เย็นจัดในเวลานั้นเกิดเป็นเบียร์ฟูนุ่มคล้ายวุ้น รินลงแก้วแล้วดูเหมือนไอศครีมนุ่มลิ้นน่าลิ้มลองเป็นยิ่งนัก อีกทั้งแก้วที่แช่เย็นจัดก็จะช่วยให้เบียร์แก้วนั้นรักษาความเย็นจัดไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ความบังเอิญของเจ้าเบียร์ขวดนั้นเลยเป็นการจุดประกายให้คิดค้นกระบวนการที่จะช่วยแก้กระหายคลายร้อนในแบบฉบับของเบียร์วุ้นแก้วแช่ประจำร้านอาหารสามเสนวิลล่ามาจวบจนทุกวันนี้ ซึ่งครองใจนักดื่มมาแล้วตั้งแต่ปี 2521 

เรื่อง/ภาพ นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง

Read more

บ้านเปี่ยมสุข ร้านกาแฟเล็กๆ ที่น่าแวะ

เค้กอร่อยๆ ที่ร้านบ้านเปี่ยมสุข เยื้องวัดเกตุ จ.เชียงใหม่ 

        ริมถนนเส้นวัดเกตุผมชอบแวะมาเป็นประจำ เพราะผมชอบเป็นพิเศษ นอกจากบ้านเก่าสวยๆ หลายหลัง แล้วถนนเส้นนี้ยังมีร้านอาหารอร่อยๆ อีกหลายร้านเช่น ร้านอาหารสามเสนวิลล่า ที่บรยากาศดีติดริมน้ำปิง หรือร้านสไตล์มันๆ ที่โด่งดังเช่น The River Side หรือใครอยากชิมชาดีๆ ก็ที่ร้านเวียงจุมออน

มุมสบายๆ พร้อม wifi บริการ

        แต่วันนี้ผมมีร้านกาแฟเก๋ๆ เปิดใหม่ร้านหนึ่ง ที่อยากนำมาแนะนำกัน ด้วยบรรยากาศเป็นกันเองแบบบ้านสมัยเก่า แต่งร้านเรียบง่ายดูเป็นกันเอง กาแฟที่นี่ใช้ได้ครับ เค้กที่ลอง 2 อย่างผ่านสบายๆ เพราะเจ้าของร้านบอกว่าทำเอง และลูกๆ ชอบทานเลยต้องคุมคุณภาพให้ดีตั้งแต่แรก อ้อที่ร้านนี้มี wifi บริการฟรีเหมาะกับการมานั่งพักผ่อน 


        ส่วนที่จอดรถแนะนำว่าอย่าจอดรถริมถนนนะครับ เพราะเค้าห้ามจอดรถตลอดแนว และถนนเส้นนี้ค่อนข้างแคบ จะมีที่จอดรถสบายๆ ข้างวัดซิกส์ กว้างขวางสะดวกสบาย แค่เดินข้ามถนนมานิดเดียวก็ถึงแล้วครับ ใครแวะมาเส้นวัดเกตุก็อยากให้แวะมาลองกันนะดูนะครับ


เรื่อง/ภาพ นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง

Read more

Olympus OMD กล้องหน้าตาธรรมดาที่คุณภาพไม่ธรรมดา

Olympus OMD Lens 75 f1.8 


        วันนี้ทาง Photobug จ.เชียงใหม่ ได้ชวนผมไปฟังเกี่ยวกับเทคโนโลยีของกล้อง Olympus OMD ที่เพิ่งออกมาไม่นาน กับเลนส์ระดับเทพที่ชวนให้กิเลสพุ่งอีก 2 ตัวคือ Olympus 45 f1.8 และ Olympus 75 f1.8 ต้องบอกว่าเป็นเลนส์ที่ดีมากทั้งคู่ คุณภาพสูง ความคมชัดดีมากๆ โดยเฉพาะตัว 75 f1.8 ที่ไม่เป็นรองเลนส์ค่ายญี่ปุ่นทุกตัว และที่สำคัญกล้องตัวนี้ระบบต่างๆ ค่อนข้างสมบูรณ์มาก โฟกัสเร็ว แม่นยำแม้ในที่แสงน้อย หรือย้อนแสง ระบบจัดการ Noise ที่ถูกพัฒนาขึ้นมามากจากเดิมที่ทำได้ไม่เกิน ISO800 แต่เจ้า OMD นี่ผมเชื่อว่าที่ ISO1600-3200 ยังให้ภาพที่มีคุณภาพสูงพอใช้งานทั่วไปได้สบาย ส่วนเรื่องโทนสีคงต้องแล้วแต่คนชอบนะครับ ผมว่าทำได้ดีพอสมควร กล้องตัวนี้ยังมีระบบอีกมากมาย มากมายจริงๆ ที่สามารถรองรับตั้งแต่มือใหม่สมัครเล่น จนถึงมือเก๋า หรือจะใช้งานใน Studio ก็ได้ เสียดายคราวนี้ผมไม่ได้ลองใน Studio เพราะเวลามีน้อย

Olympus OMD Lens 45 f1.8

        ผมมีเวลาทดลองใช้อยู่ไม่ถึง 2 ชั่วโมง ครั้งนี้จึงอย่าถือว่าเป็นจริงเป็นจังอะไรนักนะครับ ถือว่าผมมาบ่นให้ฟังละกัน เอาเป็นว่าหากใครหากล้องซักตัวไว้ท่องเที่ยวตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงกึ่งจริงจัง น่าจะไม่ผิดหวังนะครับ เป็นกล้องที่ใช้งานสนุก ง่าย และให้คุณภาพสูงครับ อาจติดปัญหาเรื่องราคาบ้างแต่ต้องบอกว่าเป็นของดีที่คุ้มราคาครับ

ทดอสบกล้อง Olympus OMD
Olympus เคลมว่า DR 11 Stop ก็ต้องยอมรับว่าทำได้ดีครับ

        ผมขอนำภาพมาฝากกันเล็กน้อย ขอบคุณพี่ป๊อป Photobug และทีมงานจาก Olympus ทุกท่านครับ และสถานที่สวยๆ ของ ยางคำรีสอร์ท จ.เชียงใหม่ อ้อ ภาพทุกภาพนี้จงใจทดสอบกล้องและเลนส์ โดยถ่ายในสภาพแสงในร่มบ้าง ย้อนแสงบ้าง เกิดเงาบ้าง ดัน ISO 3200 บ้าง ฯลฯ ส่วนมากเปิดรูรับแสงกว้างสุด ไม่ได้ใช้แฟลช และ Reflex ครับ แต่ก็ผ่านมาได้ค่อนข้างดี มีฟุ้งบ้าง ขอบม่วงเล็กน้อย อิ อิ

เรื่อง/ภาพ นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง
26/8/55


Read more

หลวงพ่อแช่ม วัดไชยธาราราม (วัดฉลอง) อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต




ประวัติวัดฉลอง
        "วัดฉลอง"เป็นวัดที่มีมาแต่ก่อนเก่า จึงไม่มีท่านผู้ใดทราบประวัติความเป็นมาได้ละเอียดนัก วัดฉลองนี้ตั้งอยู่บริเวณทุ่งนาและป่าละเมาะ ทางด้านเหนือของเกาะภูเก็ต ห่างจากตัวเมืองประมาณ 7-8 กิโลเมตร ตามหลักฐานที่ปรากฏมีศาลาเก่าแก่อยู่หลังหนึ่งทางด้านทิศตะวันออก (ของวัดในปัจจุบันนี้) ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระปฎิมาจากสภาพขององค์ท่าน นับว่าเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมาช้านานแล้ว จนไม่อาจคำนวณอายุที่แน่นอนได้ ชาวบ้านฉลองและคนทั่วไป เรียกท่านว่า "พ่อท่านเจ้าวัด" ด้านซ้ายขององค์ท่านมีรูปหล่อของชายชรานั่งถือตะบันหมาก ชาวบ้านเรียกว่า "ตาขี้เหล็ก" ส่วนด้านขวา ของ "พ่อท่านเจ้าวัด" นั้น มีรูปหล่อเป็นยักษ์ถือกระบองแลดูน่ากลัว ชาวบ้านเรียกว่า "นนทรีย์" รูปหล่อทั้ง 3 องค์นี้ ท่านศักดิ์สิทธิ์นัก จนเป็นที่โจษขานกันมานานแล้ว

         เจ้าอาวาสวัดฉลององค์แรกท่านเป็นพระเถระองค์ใดนั้น ในประวัติไม่ได้บันทึกเอาไว้ ก็เลยไม่ทราบนามท่านเท่าที่ทราบมี "พ่อท่านเฒ่า" ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดฉลององค์ก่อน "หลวงพ่อแช่ม" ท่านเป็นพระที่มีความเชี่ยวชาญทางวิปัสสนากรรมฐานเป็นที่เลื่องลือ เมื่อ "ท่านพ่อเฒ่า" ท่านได้มรณภาพด้วยโรคชราอาพาธ "หลวงพ่อแช่ม" ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาทสืบต่อจาก "พ่อท่านเฒ่า"

         ต่อมา.. ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมศักดิ์ว่าที่เป็น "พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาฌมุนี" ตำแหน่งสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงเปลี่ยนชื่อ "วัดฉลอง" เสียใหม่เป็น "วัดไชยธาราราม" แต่.. ประชาชนโดยทั่วไปมักเรียกว่า "วัดฉลอง" เพราะเป็นชื่อที่คุ้นหูมาก่อน

หลวงพ่อแช่ม (พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี)

         "หลวงพ่อแช่ม" วัดฉลอง ภูเก็ต ท่านเกิดที่ตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เมื่อปีกุน พุทธศักราช 2370 ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 นามโยมบิดา-มารดา ไม่ปรากฏในประวัติ แม้แต่ "หลวงพ่อช่วง" วัดท่าฉลอง ศิษย์เอกของท่านก็ไม่สามารถให้รายละเอียดได้

         พ่อแม่ส่งให้อยู่ ณ วัดฉลอง เป็นศิษย์ของพ่อท่านเฒ่าตั้งแต่เล็ก เมื่อมีอายุพอจะบวชได้ก็บวชเป็นสามเณร และ ต่อมาเมื่ออายุถึงที่ จะบวชเป็นพระภิกษุก็บวชเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ ณ วัดฉลองนี้หลวงพ่อแช่มได้ศึกษาวิปัสนาธุระจากพ่อท่านเฒ่าจนเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญ ทางวิปัสนาธุระเป็นอย่างสูง 
ถึงแม้พระคุณท่านจะได้มรณภาพไปนานแล้วก็ตาม ชื่อเสียงและเกียรติคุณของพระคุณท่านยังตรึงตราตรึงใจอยู่ในความทรงจำของชาวภูเก็ตและชาวไทยทั่วทุกภาค แม้แต่ประชาชนเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงยังให้ความเคารพเลื่อมใส ศรัทธายิ่ง ดุจดังเทพเจ้าผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมอันสูงส่ง ทรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์นานัปการหลวงพ่อแช่ม ชาตะ พ.ศ.2370 มรณภาพ พ.ศ.2451

        เมื่อครั้งพระคุณท่านมีชีวิตอยู่มีผู้ศรัทธาและเลื่อมใสท่านมาก ถึงขนาดรุมกันปิดทองที่ตัวท่านจนแลดูเหลืองอร่ามไปทั้งร่าง เฉกเช่นเดียวกับปิดทองพระพุทธรูปบูชา นับเป็นความแปลกประหลาดมหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง
        ความมีชื่อเสียงของหลวงพ่อแช่มปรากฏชัดในคราวที่หลวงพ่อแช่มเป็นหัวหน้าปราบอั้งยี่ ตามความแต่โบราณดังนี้



 ปราบอั้งยี่
        ในปีพุทธศักราช 2419 กรรมกรเหมืองแร่เป็นจำนวนหมื่น ในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียงได้ซ่องสุมผู้คนก่อตั้งเป็นคณะขึ้นเรียกว่า อั้งยี่ โดยเฉพาะพวกอั้งยี่ในจังหวัดภูเก็ตก่อเหตุวุ่นวายถึงขนาดจะเข้ายึดการปกครองของจังหวัดเป็นของพวกตน ทางราชการในสมัยนั้น ไม่อาจปราบให้สงบราบคาบได้ พวกอั้งยี่ถืออาวุธฆ่าฟันชาวบ้านล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ที่รอดชีวิตก็หนีเข้าป่าไป เฉพาะในตำบลฉลองชาวบ้านได้หลบหนีเข้าป่า เข้าวัด ทิ้งบ้านเรือนปล่อยให้พวกอั้งยี่เผา บ้านเรือนหมู่บ้านซึ่งพวกอั้งยี่เผา ได้ชื่อว่า บ้านไฟไหม้ จนกระทั้งบัดนี้

         ชาวบ้านที่หลบหนีเข้ามาในวัดฉลอง เมื่อพวกอั้งยี่รุกไล่ใกล้วัดเข้ามา ต่างก็เข้าไปแจ้งให้หลวงพ่อแช่มทราบ และนิมนต์ให้หลวงพ่อแช่ม หลบหนีออกจากวัดฉลองไปด้วย หลวงพ่อแช่มไม่ยอมหนี ท่านว่า ท่านอยู่ที่วัดนี้ตั้งแต่เด็กจนบวชเป็นพระ และเป็นเจ้าวัดอยู่ขณะนี้ จะให้หนีทิ้งวัดไปได้อย่างไร

         เมื่อหลวงพ่อแช่มไม่ยอมหนีทิ้งวัด ชาวบ้านต่างก็แจ้งหลวงพ่อแช่มว่า เมื่อท่านไม่หนีพวกเขาก็ไม่หนีจะขอสู้มันละ พ่อท่านมีอะไรเป็นเครื่องคุ้มกันตัวขอให้ทำให้ด้วย หลวงพ่อแช่มจึงทำผ้าประเจียดแจกโผกศีรษะคนละผืน เมื่อได้ของคุ้มกันคนไทยชาวบ้านฉลอง ก็ออกไปชักชวนคนอื่นๆ ที่หลบหนีไปอยู่ตามป่า กลับมารวมพวกกันอยู่ในวัด หาอาวุธ ปืน มีด เตรียมต่อสู้กับพวกอั้งยี่

          พวกอั้งยี่ เที่ยวรุกไล่ฆ่าฟันชาวบ้าน ไม่มีใครต่อสู้ก็จะชะล่าใจ ประมาทรุกไล่ฆ่าชาวบ้านมาถึงวัดฉลอง ชาวบ้านซึ่งได้รับผ้าประเจียด จากหลวงพ่อแช่มโพกศีรษะไว้ก็ออกต่อต้านพวกอั้งยี่ พวกอั้งยี่ไม่สามารถทำร้ายชาวบ้าน ก็ถูกชาวบ้านไล่ฆ่าฟันแตกหนีไป ครั้งนี้เป็น ชัยชนะครั้งแรกของไทยชาวบ้านฉลอง ข่าวชนะศึกครั้งแรกของชาวบ้านฉลอง รู้ถึงชาวบ้านที่หลบหนีไปอยู่ที่อื่น ต่างพากลับมายังวัดฉลอง รับอาสาว่าถ้าพวกอั้งยี่มารบอีกก็จะต่อสู้ ขอให้หลวงพ่อแช่มจัดเครื่องคุ้มครองตัวให้ หลวงพ่อแช่มก็ทำผ้าประเจียดแจกจ่าย ให้คนละผืน พร้อมกับแจ้งแก่ชาวบ้านว่า "ข้าเป็นพระสงฆ์จะรบราฆ่าฟันกับใครไม่ได้ พวกสูจะรบก็คิดอ่านกันเอาเอง ข้าจะทำเครื่องคุณพระให้ไว้สำหรับป้องกันตัวเท่านั้น" ชาวบ้านเอาผ้าประเจียดซึ่งหลวงพ่อแช่มทำให้โพกศีรษะเป็นเครื่องหมายต่อต้านพวกอั้งยี่

          พวกอั้งยี่ให้ฉายาคนไทยชาวบ้านฉลองว่า พวกหัวขาว ยกพวกมาโจมตีคนไทยชาวบ้านฉลองหลายครั้ง ชาวบ้านถือเอากำแพง พระอุโบสถเป็นแนวป้องกัน อั้งยี่ไม่สามารถตีฝ่าเข้ามาได้ ภายหลังจัดเป็นกองทัพเป็นจำนวนพัน ตั้งแม่ทัพ นายกอง มีธงรบ ม้าล่อ เป็นเครื่องประโคมขณะรบกัน ยกทัพเข้าล้อมรอบกำแพงพระอุโบสถ ยิงปืน พุ่งแหลม พุ่งอีโต้ เข้ามาที่กำแพง เป็นที่น่าอัศจรรย์ ที่บรรดาชาวบ้านซึ่งได้เครื่องคุ้มกันตัวจากหลวงพ่อแช่มต่างก็แคล้วคลาดไม่ถูกอาวุธของพวกอั้งยี่เลย รบกันจนเที่ยงพวกอั้งยี่ยกธง ขอพักรบ ถอยไปพักกันใต้ร่มไม้หุงหาอาหาร ต้มข้าวต้มกินกัน ใครมีฝิ่นก็เอาฝิ่นออกมาสูบ อิ่มหนำสำราญแล้วก็นอนพักผ่อน ชาวบ้านแอบดูอยู่ในกำแพงโบสถ์ เห็นได้โอกาสในขณะที่พวกอั้งยี่เผลอก็ออกไปโจมตีบ้าง พวกอั้งยี่ไม่ทันรู้ตัวก็ล้มตายและแตกพ่ายไป หัวหน้าอั้งยี่ประกาศให้สินบนใครสามารถจับตัวหลวงพ่อแช่มวัดฉลองไปมอบตัวให้จะให้เงินถึง 5,000 เหรียญ

        เล่าลือกันทั่วไปในวงการอั้งยี่ว่า คนไทยชาวบ้านฉลองซึ่งได้รับผ้าประเจียดของหลวงพ่อแช่มโพกศีรษะ ล้วนแต่เป็นยักษ์มารคงทนต่ออาวุธ ไม่สามารถทำร้ายได้ ยกทัพมาตีกี่ครั้งๆ ก็ถูกตีโต้กลับไปในทุกครั้ง จนต้องเจรจาขอหย่าศึกยอมแพ้แก่ชาวบ้านศิษย์หลวงพ่อแช่ม โดยไม่มีเงื่อนไข

          คณะกรรมการเมืองภูเก็ต ได้ทำรายงานกราบทูลไปยังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้คณะกรรมการเมืองนิมนต์หลวงพ่อแช่ม ให้เดินทางไปยังกรุงเทพมหานคร มีพระประสงค์ทรงปฏิสันฐานกับหลวงพ่อแช่มด้วยพระองค์เอง หลวงพ่อแช่มและคณะเดินทางถึงกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานสมฌศักดิ์หลวงพ่อแช่ม เป็น พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญานฌมุนี ให้มีตำแหน่งเป็นสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต อันเป็นตำแหน่งสุงสุดซึ่งบรรพชิตจักพึงมีในสมัยนั้น ในโอกาสเดียวกัน ทรงพระราชทานนามวัดฉลองเป็นวัดไชยาธาราราม



บารมีหลวงพ่อแช่ม

         จากคำบอกเล่าของคณะผู้ติดตามหลวงพ่อแช่มไปในครั้งนั้นแจ้งว่ามีพระสนมองค์หนึ่งในรัชกาลที่ 5 ป่วยเป็นอัมพาต หลวงพ่อแช่มได้ทำน้ำพระพุทธมนต์ให้รดตัวรักษา ปรากฏว่าอาการป่วยหายลงโดยเร็วสามารถลุกนั่งได้ อนึ่ง การเดินทางไปและกลับจากจังหวัดภูเก็ตกับ กรุงเทพมหานคร ผ่านวัดๆ หนึ่งในจังหวัดชุมพร หลวงพ่อแช่มและคณะได้เข้าพักระหว่างทาง ณ ศาลาหน้าวัด เจ้าอาวาสวัดนั้น นิมนต์ให้หลวงพ่อแช่มเข้าไปพักในวัด แต่ หลวงพ่อเกรงใจและแจ้งว่าตั้งใจจะพักที่ศาลาหน้าวัดแล้วก็ขอพักที่เดิมเถิด เจ้าอาวาสและชาวบ้าน ในละแวกนั้นบอกว่า การพักที่ศาลาหน้าวัดอันตรายอาจเกิดพวกโจร จะมาลักเอาสิ่งของของหลวงพ่อแช่มและคณะไปหมด หลวงพ่อแช่มตอบว่า “เมื่อมันเอาไปได้ มันก็คงเอามาคืนได้” เจ้าอาวาสวัดและชาวบ้านอ้อนวอน หลวงพ่อแช่มก็คงยืนยันขอพักที่เดิม เล่าว่า ตกตอนดึก คืนนั้น โจรป่ารวม 6 คน เข้ามาล้อมศาลาไว้ ขณะคนอื่นๆ หลับหมดแล้ว คงเหลือแต่หลวงพ่อแช่มองค์เดียว พวกโจรเอื้อมเอาของไม่ถึง หลวงพ่อแช่มก็ช่วยผลักของให้สิ่งของส่วนมากบรรจุปี๊บใส่สาแหรก พวกโจรพอได้ของก็พากันขนเอาไป 

         รุ่งเช้าเจ้าอาวาสและชาวบ้านมาเยี่ยม ทราบเหตุที่เกิดขึ้นก็พากันไปตามกำนันนายบ้านมาเพื่อจะไปตามพวกโจร หลวงพ่อแช่มก็ห้าม มิให้ตามไป ต่อมาครู่หนึ่ง พวกโจรก็กลับมา แต่การกลับมาคราวนี้หัวหน้าโจรถูกหามกลับมาพร้อมกับสิ่งของซึ่งลักไปด้วย กำนันนายบ้าน ก็เข้าคุมตัว หัวหน้าโจรปวดท้องจุดเสียดร้องครางโอดโอย ทราบว่าระหว่างที่ขนของซึ่งพวกตนขโมยไปนั้น คล้ายมีเสียงบอกว่า ให้ส่งของกลับไปเสีย มิฉะนั้น จะเกิดอาเพทพวกโจรไม่เชื่อขนของต่อไปอีก หัวหน้าโจรจึงเกิดมีอาการจุกเสียดขึ้นจนไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เลยปรึกษากันตกลงขนสิ่งของกลับมาคืนหลวง พ่อแช่มสั่งสอนว่า ต่อไปขอให้เลิกเป็นโจรอาการปวดก็หาย กำนันนายบ้านจะจับพวกโจร ส่งกรมการเมืองชุมพร แต่หลวงพ่อแช่มได้ขอร้องมิให้จับกุมขอให้ปล่อยตัวไป

         ไม่เพียงแต่ชนชาวไทยในภูเก็ตเท่านั้นที่มีความเคารพเลื่อมใสในองค์หลวงพ่อแช่ม ชาวจังหวัดใกล้เคียงตลอดจนชาวจังหวัดต่างๆ ในมาเลเซีย เช่น ชาวจังหวัดปีนัง เป็นต้นต่างให้ความเคารพนับถือในองค์หลวงพ่อแช่มเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะชาวพุทธในจังหวัดปีนัง ยกย่องหลวงพ่อแช่มเป็นเสมือนสังฆปาโมกข์เมืองปีนังด้วย

          การปราบอั้งยี่ในครั้งนั้น เมื่อพวกอั้งยี่แพ้ศึกแล้วก็หันมาเลื่อมใสให้ความเคารพนับถือต่อหลวงพ่อแช่มเป็นอย่างมาก แม้แต่ผู้ซึ่งนับถือ ศาสนาอื่นก็มีความเคารพเลื่อมใสต่อหลวงพ่อแช่ม เกิดเหตุอาเพทต่างๆ ในครัวเรือนต่างก็บนบานหลวงพ่อแช่มให้ช่วยขจัดปัดเป่าให้

          ชาวเรือพวกหนึ่งลงเรือพายออกไปหาปลาในทะเลถูกคลื่น และพายุกระหน่ำจนเรือจวนล่มต่างก็บนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ให้คลื่นลมสงบ แต่คลื่นลมกลับรุนแรงขึ้น ชาวบ้านคนหนึ่งนึกถึงหลวงพ่อแช่มได้ ก็บนหลวงพ่อแช่มว่าขอให้หลวงพ่อแช่มบันดาลให้คลื่นลมสงบเถิด รอดตายกลับถึงบ้านจะติดทองที่ตัวหลวงพ่อแช่มคลื่นลมก็สงบ มาถึงบ้านก็นำทองคำเปลวไปหาหลวงพ่อแช่ม เล่าให้หลวงพ่อแช่ม ทราบและขอปิดทองที่ตัวท่าน หลวงพ่อแช่มบอกว่าท่านยังมีชีวิตอยู่จะปิดทองยังไง ให้ไปปิดทองที่พระพุทธรูป ชาวบ้านกลุ่มนั้น ก็บอกว่าถ้าหากหลวงพ่อไม่ให้ปิดหากแรงบนทำให้เกิดอาเพศอีก จะแก้อย่างไรในที่สุดหลวงพ่อแช่มก็จำต้องยอมให้ชาวบ้าน ปิดทองที่ตัวท่านโดยให้ปิดที่แขนและเท้า ชาวบ้านอื่นๆ ก็บนตามอย่างด้วยเป็นอันมาก พอหลวงพ่อแช่มออกจากวัดไปทำธุระในเมือง ชาวบ้านต่างก็นำทองคำเปลวรอคอยปิดที่หน้าแขนของหลวงพ่อแทบทุกบ้านเรือนจนถือเป็นธรรมเนียม เมื่อกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จมาจังหวัดภูเก็ตนิมนต์ให้หลวงพ่อแช่มไปหา ก็ยังทรงเห็นทองคำเปลวปิดอยู่ที่หน้าแข้งของหลวงพ่อแช่ม นับเป็นพระภิกษุองค์แรก
ของเมืองไทยที่ได้รับการปิดทองแก้บนทั้งๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่

         แม้แต่ไม้เท้าของหลวงพ่อแช่ม ซึ่งท่านถือประจำกายก็มีความขลัง ประวัติความขลังของไม้เท้ามีดังนี้ เด็กหญิงรุ่นสาวคนหนึ่ง เป็นคนชอบพูดอะไรแผลงๆ ครั้งหนึ่งเด็กหญิงคนนั้นเกิดปวดท้องจุดเสียดอย่างแรง กินยาอะไรก็ไม่ทุเลา จึงบนหลวงพ่อแช่มว่า ขอให้อาการปวดท้องหายเถิด ถ้าหายแล้วจะนำทองไปปิดที่ของลับของหลวงพ่อแช่ม อาการปวดท้องก็หายไป เด็กหญิงคนนั้น เมื่อหายแล้วก็ไม่สนใจ ถือว่าพูดเล่นสนุกๆ ต่อมาอาการปวดท้องเกิดขึ้นมาอีก พ่อแม่สงสัยจะถูกแรงสินบนจึงปลอบถามเด็ก เด็กก็เล่าให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่จึงนำเด็กไปหาหลวงพ่อแช่มหลวงพ่อแช่มกล่าวว่าลูกมึงบนสัปดนอย่างนี้ใครจะให้ปิดทองอย่างนั้นได้ พ่อแม่เด็กต่างก็อ้อนวอนกลัวลูกจะตายเพราะไม่ได้แก้บน ในที่สุดหลวงพ่อแช่มคิดแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้โดยเอาไม้เท้านั่งทับ สอดเข้าให้เด็กหญิงคนนั้นปิดทองที่ปลายไม้เท้า กลับบ้านอาการปวดท้องจุดเสียดก็หายไป ไม้เท้านั่งทับของหลวงพ่อแช่มอันนี้ ยังคงมีอยู่ และใช้เป็นไม้สำหรับจี้เด็กๆ ที่เป็นไส้เลื่อน เป็นฝีเป็นปาน อาการเหล่านั้นก็หายไปหรือชะงัดการลุกลามต่อไป เป็นที่น่าประหลาด





ขอขอบคุณข้อมูลจาก 
- ศูนย์พระดอทคอม คลังข้อมูลพระเครื่องออนไลน์
- phuketbulletin


เรื่อง กองบรรณาธิการ
ภาพ นันทพัฒน์  สุรสิงห์โตทอง

Read more

ท้าวเทพกระษัตรี




คำจารึกที่อนุสาวรีย์ฯโดยกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

เมืองถลางปางพม่าล้อมลุยรัณ
รอดเพราะคุณหญิงจันรับสู้
ผัวพญาผิวอาสัญเสียก่อนก็ดี
เหลือแต่หญิงยังกู้เกียรติไว้ชัยเฉลิม
เริ่มรบรุกตลบต้านโจมตี
ทั้งสกัดตัดเสบียงทีดักด้าว
พม่าอดหมดพลังหนีจากเกาะกเจิงแฮ
กลศึกแพ้แม่ท้าวไม่ท้อโถมหนอ

        ไพร่พลมากมายดั่งน้ำในมหาสมุทรถึง 144,000 คนจัดเป็นทัพใหญ่ยกมาหมายโจมตีสยามประเทศในรัชสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 เป็นที่รู้จักกันดีในนามสงครามเก้าทัพ หัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตกถูกระดมตีด้วยแม่ทัพใหญ่ยี่หวุ่นคุมกำลัง 3,000 คนตั้งแต่เมืองกระตะกั่วป่าตะกั่วทุ่งค่ายปากพระโดยมีเป้าหมายที่เมืองถลางคลังของสยามประเทศ คราวนั้นเจ้าเมืองถลางเพิ่งเสียชีวิตลงชาวเมืองถลางระส่ำระสายต่อข้าศึก ดีว่าท่านผู้หญิงจันภริยาเจ้าเมืองถลางที่ถึงแก่กรรมและคุณมุกผู้เป็นน้องสาวกลับเป็นศูนย์รวมใจให้ปวงชนตั้งมั่นและเข้มแข็งโดยรวบรวมกำลังคนจากบ้านต่างๆเช่นบ้านในยางบ้านไม้ขาวบ้านดอนบ้านเหรียงฯลฯมาเตรียมการรบที่ค่ายรบข้างวัดพระนางสร้าง ส่วนฝั่งทุ่งนาพม่าก็มายึดสร้างค่ายตั้งประชิดไว้ จากความได้เปรียบด้านเสบียง และภูมิประเทศปืนใหญ่ที่ตั้งตรึงไว้หลายวันเป็นผลให้พม่าเริ่มขาดแคลนเสบียง
        
        ด้วยกลศึกที่วางแผนให้ผู้หญิงแต่งกายคล้ายทหาร เอาไม้ทองหลางมาเคลือบปลายด้วยดีบุกมาถือแทนอาวุธทำทีเป็นกำลังเสริมเดินขบวนเข้าเมืองถลางทุกคืน ทำให้กองทัพพม่าเข้าใจผิด การประจันหน้าครั้งนี้ใช้เวลาถึง 1 เดือนเศษกำลังพม่าทั้งอ่อนล้าและขาดเสบียงอาหารเมื่อพม่าตั้งพลเข้าโจมตีถูกฝ่ายเมืองถลางระดมยิงปืนเล็กปืนใหญ่นำเอาดินประสิวไปโปรยในกองทัพพม่ายิงคบเพลิงเข้าไปผสมตามยุทธวิธีพระพิรุณสังหารครั้นเมื่อชาวเมืองถลางยิงปืนใหญ่แม่นางกลางเมืองถูกต้นทองหลางหน้าค่ายพม่าหักลง กองทัพพม่าระส่ำระสายเสียขวัญและแตกทัพไปเมื่อวันจันทร์เดือน 4 แรม 14 ค่ำปีมะเส็งสัปตศกจุลศักราช1147 ตรงกับวันที่13 มีนาคมพ.ศ. 2328เป็นวันถลางชนะศึก

        หลังเสร็จจากการศึกแล้วเมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมบำเหน็จผู้ทำคุณแก่แผ่นดิน โดยให้ท่านผู้หญิงจันเป็นท้าวเทพกระษัตรีคุณมุกน้องสาวเป็นท้าวศรีสุนทร

        หากประมวลความเรื่องราวกับชีวิตความเป็นอยู่ของท่านท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร นั้นนัยว่าท่านเป็นผู้หญิงที่ต้องบากบั่นตรากตรำทำงานเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของบ้านเมืองตลอดมานับแต่การรับภาระชำระหนี้สินภาษีอากรส่งเข้าท้องพระคลังหลวงแทนพระยาถลางซึ่งส่งให้ไม่ครบอันเป็นความรับผิดชอบในหน้าที่ต่อบ้านเมืองท่านมีความเฉลียวฉลาดเข้มแข็งเด็ดขาดสมกับที่เป็นเชื้อสายนักปกครองเมื่อมีภัยศึกท่านได้นำไพร่พลเข้าต่อสู้ด้วยกุศโลบายอันแยบยลจนได้รับชัยชนะข้าศึกปกป้องเมืองถลางไว้ได้ในยามที่บ้านเมืองขัดสนจากภัยของสงครามท่านก็ไม่ยอมย่อท้อต่อชีวิตนำชาวบ้านทำเหมืองดีบุกส่งขายเพื่อกอบกู้การเศรษฐกิจให้ไพร่พลชาวถลางมีความอยู่ดีกินดีขึ้นซึ่งวีรกรรมและผลงานของท่านนับเป็นแบบอย่างของหญิงไทยที่ได้รับยกย่องเป็นวีรสตรีเมืองถลาง

        พระราชดำริพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินประพาสภูเก็ตและทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ พ.ศ. 2452 ความตอนหนึ่งว่า
"... นึกขึ้นมาก็ต้องนึกชมว่าท้าวเทพกษัตรีนี้เป็นผู้หญิงคนเก่งคนหนึ่งผู้หญิงที่จะมีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในตำนานของชาติเรามีน้อยนักสมควรแล้วที่จะมีอนุสาวรีย์ไว้ให้ระลึกถึงและจำได้ต่อไปชั่วกาลนาน ..."

        อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีตั้งอยู่ที่วงเวียนสี่แยกท่าเรือตำบลศรีสุนทรอำเภอถลางจังหวัดภูเก็ตสร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2509

อ้างอิง
  1. อุทยานประวัติศาสตร์สงคราม 9 ทัพ
  2. วิกิพีเดีย
  3. ท้าวเทพกระษัตรีวัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดภูเก็ต
  4. วีรสตรีไทยสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯเล่ม 21
  5. ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทรวีรสตรีแห่งเมืองถลางโดยนางสาวบุหลงศรีกนก
  6. จอมร้างบ้านเคียน
  7. ศึกถลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง



เรื่อง กองบรรณาธิการ
ภาพ นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง







Read more

ข้าวหมูย่างเมืองตรังรสเด็ด...ยกความอร่อยมาถึงเชียงใหม่

ข้าวหมูย่างทีเด็ดร้านต้นศรีตรัง จ.เชียงใหม่

        ร้านต้นศรีตรัง แค่ชื่อร้านก็คงไม่ต้องถามว่าต้นตอมาจากที่ไหนกันแล้วนะครับ ผมแวะเวียนไปฝากท้องอยู่เสมอถ้าผ่าไปทางสายแม่โจ้ ร้านต้นศรีตรังนี้หาไม่ยาก เพียงแค่เลี้ยวเข้าตลาดรวมโชคจากทางถนนแม้โจ้สายใหม่ ประมาณ 200 เมตรให้สังเกตุฝั่งขวามือเอาไว้ก็จะเจอ เมนูประจำที่มาแล้วต้องสั่งก็คือข้าวหมูย่าง ที่เป็นหมูย่างขึ้นชื่อสูตรเมืองตรัง หนังกรอบ เนื้อนุ่ม หรือจะเป็นข้าวขาหมู บะหมี่ อยากให้แวะลองไปชิมกันดูนะครับ เผื่อจะเป็นอีกหนึ่งร้านที่ปักหมุดไว้เวลาท้องร้อง


เรื่อง / ภาพ : นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง

Read more

ความรู้สึก กับความเป็นจริง



เจ้าสุนัขตัวน้อยคู่นี้ผมบันทึกไว้ที่บักฮา เวียดนามเหนือ ภาพนี้อาจจะดูน่ารักน่าเอ็นดู แต่ความจริงแล้วนี่คือตลาดสด มีสุนัข แมว หมู เป็ด ไก่ ฯลฯ วางเรียงรายให้เลือกซื้อกลับบ้านเพื่อเป็นอาหาร เจ้าสองตัวนี้อยู่ในเข่งสายตาที่มองมาทำเอาช่างภาพที่ไปด้วยหลายๆ คนเบือนหน้าหนี สงสารก็สงสาร แต่จะทำอย่างไรได้ ผมเลือกที่จะบันทึกภาพนี้เก็บไว้ ก่อนแสงสุดท้ายของวันจะหมดลง

ภาพ : นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง

Read more

“เฝอ” ก๋วยเตี๋ยวชู้รัก...จากก้อมน้อยริมทางถึงภัตตาคารหรู




        ริมถนนที่หลวงพระบาง ข้างถนนเข้าปราสาทบันทายสรี ในตลาดสดของรัฐฉานเมืองลา แล้ววันนี้ก้อมน้อยตรงข้ามที่พักในย่าน Old Quarter เมืองฮานอยก็แออัดไปด้วยผู้คนทั้งเด็กวัยรุ่นจนถึงวัยผมเปลี่ยนสี ต่างก็กำลังนั่งก้มหน้าก้มตากับอาหารจานด่วนกันอย่างเอร็ดอร่อย 

        หลาย ๆ ที่ที่ไป พวกเราก็ได้ลองลิ้นชิมรสเจ้าอาหารยอดนิยมนี่มาทุกครั้ง แต่วันนี้ต้องบอกว่าขอนำมาเป็นประเด็นแนะนำเพราะความอร่อยแบบเป็นหนึ่งไม่มีสองของ เฝอ-ฮานอย ทำให้พวกเราต้องยกนิ้วให้อย่างไม่ลังเลกันเลย เฝอก็เหมือนอาหารแบบข้าวแกงบ้านเราคือหากินง่าย ราคาถูก ปรกติถ้าชาวเวียดนามอยู่บ้านก็จะกินข้าวเป็นอาหารหลัก แต่บางครั้งถ้าเบื่อทานข้าวที่บ้าน ก็มักจะออกมากินเฝอ ชาวเวียดนามเค้าก็เปรียบเจ้าเฝอนี้ว่าเป็นทางเลือก หรือชู้รัก แทนข้าวที่เหมือนกับภรรยาที่บ้าน เหมือนบอกเป็นนัยว่าเจ้าก๋วยเตี๋ยวธรรมดานี้นะ ถ้าเรารู้จักปรุงให้เผ็ดร้อน มันก็อร่อยเด็ดเหมือนกัน

        เฝอกับก๋วยเตี๋ยวบ้านเราคงเป็นญาติกันแนบแน่นน่าดู แต่น้ำซุปกับเครื่องเคียงนี่ต่างกันไปเส้นของเค้าคล้ายเส้นเล็กแต่กว้างกว่า อาจเจอเส้นกลมคล้ายขนมจีนบ้างและก็มีทั้งเฝอเนื้อ หมู ไก่ ปลา เต้าหู้ หมูยอ และที่ทำให้หนุ่มสาวที่นี่หุ่นดีก็คือผักสดนานาชนิดที่จะเด็ดเอาแต่ยอดอ่อนมาแกล้ม บางเจ้าก็จะมีกะปิ สำหรับซอสปรุงรสเค้าจะใช้ซอสฮอยซิน คล้ายซอสถั่วเหลืองบ้านเราหอมกลมกล่อมดีมาก และซอสพริกศรีราชาช่วยเพิ่มรสชาติให้กับคนที่ชอบรสเผ็ด รสเปรี้ยวที่นี่เค้าแปลกไม่ได้ใช้มะนาวเหมือนบ้านเรา แต่เค้าใช้ส้มลูกเล็ก ๆ คล้ายส้มจี๊ดตัดปลายไว้ให้บีบใส่ แหมทั้งหอมแบบเปรี้ยวอมหวานเยี่ยมยอดมาก ส่วนน้ำซุปเค้าจะใช้กระดูกหมูส่วนขา กระดูกสันหลัง หางวัว หรือเนื้อวัว เนื้อไก่ มาเคี่ยวนานหลายชั่วโมงจนได้น้ำซุปรสกลมกล่อม ตัดกลิ่นด้วยเครื่องเทศชนิดต่าง ๆ เช่นหอมหัวใหญ่ กระเทียม เมล็ดดอกจัน ขิง กานพลู อบเชย ยี่หร่าอีกเล็กน้อย เรียกว่าซุปเค้านี่ผมแทบไม่ได้ปรุงเพิ่มเลย ร้านไหนร้านนั้นอร่อยทุกร้าน ยิ่งช่วงบ่าย ๆ เย็น ๆ น้ำซุปถูกเคี่ยวจนเข้าเนื้อยิ่งเด็ด 

         ใครจะเคยคิดว่าในอดีตการขายเฝอข้างถนนก็ผิดกฎหมาย ประมาณกลางทศวรรษ 1980 ก่อนปฏิรูประบบเศรษฐกิจ แผงลอยขายเฝอถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพราะราษฎรต้องรับข้าวกับเนื้อที่เป็นส่วนปันจากรัฐบาล คนขายเก่า ๆเล่าให้ฟังว่าต้องแอบขายกันหลังบ้านให้กับคนที่รู้จักเท่านั้น แต่ทุกวันนี้ไม่ว่าเราจะอยู่มุมไหนของเวียดนามเราจะหาร้านเฝอได้ง่ายที่สุดทั้งแบบยอง ๆ เหลา จนถึงระดับภัตตาคาร ยิ่งทุกวันนี้มีร้าน เฝอ24 ที่ตีตลาดแบบแมคโดนัลที่เปิดสาขาให้บริการกันหลายสิบสาขาแล้ว ก่อนจะหมดพื้นที่หน้าขอกระซิบดัง ๆ ตรงนี้ว่า เฝอที่เวียดนามเหนืออร่อยที่สุดเท่าที่เคยชิมมาเลยครับ ใครมีโอกาสเดินทางมาถึงนี่ไม่ต้องกลัวว่าร้านเล็ก ๆ ข้างทางจะไม่อร่อย ผมรับประกันได้เลยว่าของเค้าดีจริง ๆ ครับ

เรื่อง / ภาพ : นันทพัฒน์  สุรสิงห์โตทอง

Read more

"อ๋าวไหย่" Vietnamese traditional costumes


"อ๋าวไหย่" Vietnamese traditional costumes

นักศึกษาสาวชาวเวียดนามในชุดอ๋าวไหย่

        ในใจลึก ๆ ประสาหนุ่มโสดที่มีโอกาสได้เดินทางท่องเที่ยวไปต่างแดนโดยเฉพาะประเทศเวียดนามที่ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องชุดแต่งกายประจำชาติซึ่งมีเสน่ห์ สวยงาม เย้ายวน ทว่ามิดชิด จากคำเล่าขานหรือจะเท่าไปเห็นด้วยตาตัวเอง เพราะฉะนั้นเมื่อมีโอกาสได้ไปเยือนเวียดนามถึงถิ่นพอเครื่องบินลงจอดที่สนามบินนอยไบสายตาผมก็สอดส่องเผื่อจะพบสาวในชุดอ๋าวไหย่ให้สมตั้งใจ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่พบซักที จนเดินทางเข้าเมืองฮานอยก็ต้องผิดหวังอีกคำรบใหญ่เพราะเพิ่งรู้ว่าเวียดนามเหนือเค้าจะไม่ใส่ชุดอ๋าวไหย่กัน ถ้าอยากเห็นต้องไปเวียดนามใต้โดยเฉพาะที่เมืองเว้ ด้วยความคาดหวังอันสูงส่งทำให้หนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ที่ไปในทริปนั้นต่างผิดหวังกันอย่างแรง เอาเป็นว่าเรามาดูวิวัฒนาการของชุดอ๋าวไหย่กันก่อนดีกว่า

        อ๋าวไหย่ ถ้าแปลตามความหมายก็คือชุดยาว แต่กว่าจะมาเป็นชุดยาวนี่ได้ก็ต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการคัดสรรทางการเวลากันมาพอควร เพราะแต่เดิมประมาณปี 1744 พระเจ้ามินหม่างแห่งราชวงศ์เหวียน ที่มีอำนาจอยู่ในเวียดนามกลางและใต้ ได้กำหนดให้แต่งกายแบบจีนคือให้ใส่กางเกงขายาวแทนกระโปรง เสื้อแหวกแบบผูกด้านหน้า โดยกำหนดจากชนชั้นทางสังคม และอาชีพของผู้สวมใส่ แต่ชุดสมัยโบราณผู้หญิงจะแต่งเป็นกระโปรงยาวไม่ใส่กางเกงซึ่งเดี๋ยวนี้เราก็ยังสามารถพบเห็นได้ตามหมู่บ้านทางเวียดนามตอนเหนือ ที่ผมไปแถวซาปาก็ยังมีชาวบ้านที่มีอายุก็ยังนิยมแต่งกายแบบเดิมอยู่พอสมควร

        ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 1930 ก็ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบเนื้อผ้าโดยให้ทันสมัยขึ้นจนมาเป็นชุดอ๋าวไหย่ทุกวันนี้ แต่ภายหลังการรวมชาติ และสงครามเวียดนามได้จบลงประเทศเวียดนามต้องประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจไปทั่ว ชุดอ๋าวไหย่จึงกลายเป็นของสิ้นเปลืองต้องห่างหายไปชั่วคราว ต่อมาปลายปี 1980 เมื่อสภาพสังคม และเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ชุดประจำชาติชุดนี้ก็ได้กลับมารับความนิยมอีกครั้ง โดยเฉพาะในเขตตอนใต้ของประเทศ

ชุดแต่งงานของชาวเวียดนาม

        ชุดอ๋าวไหย่มักจะใช้ผ้าเนื้อบางเบาเมื่อสวมใส่แล้วจะแนบไปกับสรีระของผู้ใส่ ซึ่งตลอดเวลาที่ผมเดินทางอยู่ในเวียดนามเรียกว่าแทบจะไม่เห็นคนอ้วนเลย หญิงสาวชาวเวียดนามเค้าดูแลตัวเองดีมาก ๆ ทั้งเรื่องอาหารการกินที่เน้นจำพวกผักเป็นหลัก ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สาวรุ่นที่นี่มีแต่รูปร่างดี ๆ สูงโปร่ง จนมีเรื่องเล่าว่า ในตอนใต้ของเวียดนามที่นักเรียนหญิงจะใส่ชุดอ๋าวไหย่หากวันใดฝนตกเราจะเห็นความสวยงามของสรีระร่างกาย ทั้งส่วนเว้าส่วนโค้งอย่างชัดเจน จนบางครั้งพวกนักท่องเที่ยวจะมารอดูอยู่ที่หน้าโรงเรียนเลยก็มี แบบนี้ถ้าเป็นบ้านเราคงโดนตำรวจจับข้อหาโรคจิตแน่ ๆ เรื่องนี้จะจริงเท็จประการใดหากมีโอกาสไปเวียดนามใต้ผมก็จะขออาสาไปพิสูจน์ให้ก่อนละกันนะครับ
        แต่มาเวียดนามครั้งนี้ก็ไม่ได้โหดร้ายเกินไปนัก เพราะวันสุดท้ายขณะที่ผมกำลังเดินเล่นอยู่ที่วิหารวรรณกรรมกลางเมืองฮานอย พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นสาวน้อยในชุดอ๋าวไหย่กำลังถ่ายภาพเป็นที่สนุกสนาน จึงเดินเข้าไปถามได้ความว่าเป็นนักศึกษากำลังจะเรียนจบปีนี้เลยไปเช่าชุดกับเพื่อน ๆ มาถ่ายภาพกัน ผมก็เลยถือโอกาสขออนุญาตถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก ช่างเป็นการปิดทริปเวียดนามได้ดั่งใจหวังจริง ๆ ครับ


เรื่อง / ภาพ : นันทพัฒน์  สุรสิงห์โตทอง



Vietnamese traditional costumes

        Young women wear light brown-colored short shirts with long black skirts. Their headgear consists of a black turban with a peak at the front. To make their waist look smaller, they tightly fasten a long piece of pink or violet cloth. On formal occasions, they wear a special three layered dress called an "ao dai", a long gown with slits on either side.

Over time, the traditional "ao dai" has gone through certain changes. Long gowns are now carefully tailored to fit the body of a Vietnamese woman. The two long slits along the side allow the gown to have two free floating panels in the front and at the back of the dress. The floating panels expose a long pair of white silk trousers.

In general, Vietnamese clothing is very diverse. Every ethnic group in Vietnam has its own style of clothing. Festivals are the occasion for all to wear their favorite clothes. Over thousands of years, the traditional clothing of all ethnic groups in Vietnam has changed, but each ethnic group has separately maintained their own characteristics.

http://www.vietnamtourism.com



Read more

หุ่นกระบอกน้ำ...วิถีความเชื่อ ศิลปะบนผิวน้ำ



        แสงยามเย็นเริ่มลูบไล้ริมฝั่งน้ำ สะพานสีแดงสดที่ทอดตัวสู่เกาะเล็กๆ กลางทะเลสาบ ซึ่งเป็นหนึ่งในตำนานแห่งอิสรภาพของชนชาวเวียดนาม ริมทะเลสาบฮว่านเกี๋ยม หรือทะเลสาบคืนดาบ เรื่องเล่าของพระเจ้าเลไทโต กับเต่ายักษ์ที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบ ซึ่งคนที่จะมาเที่ยวเวียดนามเชื่อว่าคงเคยได้ยินตำนานนี้กันมาบ้างแล้ว แต่วันนี้เราจะมาดูศิลปะการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ขึ้นชื่อของชาวเวียดนามที่ทุกวันนี้หาดูได้ค่อนข้างยากนั่นคือ หุ่นกระบอกน้ำ เดินไปเดินมารอเวลาเข้าชมก็ชวนให้นึกถึงหุ่นกระบอกโจหลุยส์ หรือหุ่นละครเล็กที่บ้านเรา ความวิจิตรของตัวหุ่นลีลาการเชิดที่ถ่ายทอดให้เราได้เห็นได้สัมผัสเรื่องราว และอารมณ์ทั้งจากตัวหุ่นกระบอกเอง และจากผู้เชิด ต้องเรียกว่าศิลปะการแสดงที่เป็นหนึ่งไม่มีสองได้เหมือนกัน



       ก่อนเข้าชมผมก็มีคำถามว่า ทำไมต้องไปเล่นในน้ำไม่เปียกกันแย่เหรอ ก็ได้คำตอบจากพี่เปี๊ยกว่าประเทศเวียดนามบริเวณสันดอนสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำโขงที่กว้างใหญ่ หรือที่ราบลุ่มต่ำของแม่น้ำแดงในช่วงฤดูหน้าน้ำ ดินแดนแถบนี้จะถูกน้ำท่วมอยู่ทุกปี และการที่น้ำท่วมเป็นประจำ ชาวนาแต่ละคนก็คงเหงาไม่รู้จะไปเล่นอะไรคลายเหงาในช่วงรอน้ำลดดี ก็เลยกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดรูปแบบความบันเทิงแบบที่หาชมได้ในเวียดนามนี้เท่านั้น คือหุ่นกระบอกน้ำนั่นเอง

        เรื่องราวก็จะเป็นเกี่ยวกับวิถีชีวิต การทำนา การเพาะปลูก การแข่งเรือ และตำนานของพระเจ้าเทไทโตกับทะเลสาบฮว่านเกี๋ยมนั่นเอง จากที่เกริ่นไว้แล้วว่ามีตำนานเรื่องหนึ่งเล่าถึงเต่าใหญ่ที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบฮว่านเกี๋ยมที่ฮานอย เต่าตัวนี้จะโผล่ขึ้นมาเพื่อถวายดาบวิเศษแก่พระเจ้าเลไทโต ซึ่งพระองค์ต้องการนำไปใช้ขับไล่ผู้รุกรานชาวจีน เมื่อขับไล่เสร็จแล้วก็นำดาบมาคืนที่ทะเลสาบแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง การแสดงหุ่นกระบอกน้ำจึงสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในเรื่องตำนาน และวิถีชีวิตที่เรียบง่าย กับความรักชาติที่ถูกปลูกฝังกันมาในจิตใจชาวเวียดนาม


        การเชิดหุ่นกระบอก คนที่ดูจะไม่เห็นคนเชิดเพราะนักเชิดจะยืนอยู่หลังฉากโดยให้น้ำท่วมถึงเอว แล้วควบคุมการเคลื่อนไหวของหุ่นด้วยไม้ไผ่ลำยาว เล่ากันว่าหุ่นบางตัวหนักถึง 20 กก. ใช้คนเชิดประมาณ 4 คนแต่ที่ดูหุ่นทุกตัวเคลื่อนไหวได้น่ารักมากต้องชมคนเชิดว่าฝึกซ้อมกันมาอย่างดีจริง ๆ และในโรงละครก็จำลองออกมาได้ดี เพราะนักท่องเที่ยวอย่างพวกเราไม่ต้องลงไปดูในน้ำด้วย

        ตลอดการแสดงก็จะมีวงดนตรีแบบดั้งเดิมเล่นคลอไปด้วยได้บรรยากาศดีทีเดียว เสียแต่เค้าพากษ์เป็นภาษาเวียดนาม แม้ว่าจะฟังไม่รู้เรื่องแต่ก็น่าสนใจและสนุกมาก ดูแล้ววิถีชีวิตก็ไม่ได้ต่างกับบ้านเราเท่าไหร่นัก จะมีก็แต่เรื่องเล่าเท่านั้นที่ดูจะเป็นไปตามเบ้าหลอมทางวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติ ก่อนกลับผมก็มีคำถามอีกว่าพวกนักเชิดหุ่นเค้าต้องแช่อยู่ในน้ำกันวันละหลาย ๆ รอบ รอบละนาน ๆ เค้าจะเป็นโรคน้ำกัดเท้ากันมั๊ย แต่ผมก็ได้แต่เก็บไว้ในใจไม่กล้าจะถามใครเดี๋ยวจะหาว่าทะลึ่ง


เรื่อง / ภาพ : นันทพัฒน์  สุรสิงห์โตทอง



Water Puppets

Vietnamese water puppetry has a long history. An inscription on a stone stele in Doi Pagoda, Duy Tien District, Nam Ha Province, relates a water puppet show staged in the year 1121 to mark a birthday of King Ly Nhan Tong in 4036 words.

Puppets are made of wood and coated with waterproof paint. Each puppet is handmade, has its own posture and expresses a certain character. The most outstanding puppet is known as chu teu which has a round face and a humorous and optimistic smile. The show starts with chu teu, dressed in an odd costume, offering joyful laughter.

The pond and lakes of the northern plains, where crowds gathered during festival and galas, become the lively stages for the water puppet shows. At a water puppet show, the audience watches boat races, buffalo fights, fox hunts and other rustic scenes amidst the beating of drums and gongs. The characters plough, plant rice seedlings, fish in a pond with a rod and line, scoop water with a bamboo basket hung from a tripod, etc. The show is interspersed with such items as a Dance by the Four Mythical Animals: Dragon, Unicorn, Tortoise, and Phoenix and Dance by the Eight Fairies, in which supernatural beings enjoy festivities alongside people of this world. 

In water puppet shows there is a very effective combination of visual effects provided by fire, water, and the movements of the marionettes. The whole control system of the show is under the surface of the water, concealed from the audience. When fairy figures appear to sing and dance, it is calm and serene; then the water is agitated by stormy waves in scenes of battle, with the participation of fire-spitting dragons. 

There are many contributing factors to the art of water puppetry, including such handicrafts as wood sculpture and lacquer work. The factors all work together to bring out charming glimpses of the Vietnamese psyche, as well as typical landscapes of Vietnam.

http://www.vietnamtourism.com


Read more

ผัดโป๊ยเซียน มัสมั่นซี่โครงหมูตุ๋น ครบเครื่องความอร่อย


ร้านอาหารสามเสนวิลล่า อาารแนะนำเดือนสิงหาคม


ผมแวะไปทานอาหารที่ร้านอาหารสามเสนวิลล่า เมนูตั้งโต๊ะเป็นอาหารแนะนำหลายอย่าง แต่วันนั้นผมดันไปคนเดียว จะสั่งเยอะก็ดูท่าจะทานไม่หมด เลยเลือกมา 2 รายการก่อน เล็งแล้วว่าผัดโป๊ยเซียนนี่จานแรก ส่วนจานที่สองน่าจะแกงมัสมั่นซี่โครงหมูตุ๋น เพราะติดใจซี่โครงหมูนึ่งจิ้มเต้าเจี้ยวของเด็ดระดับ Signature Dish ของร้านมาก็หลายปี พลาดไม่ได้จริงๆ สำหรับรายการนี้


        พอจานแรกมาถึงนอกจากชื่อที่เป็นมงคลแล้วรสชาติของผัดโป๊ยเซียนจานนี้ยังเด่นด้วยความหลากหลายของวัตถุดิบที่สด อร่อย ทั้งลูกชิ้นกุ้ง ปลาหมึก กุ้งสด ฯลฯ โรยหน้าด้วยต้นหอมซอย ขึ้นฉ่าย แครอท ตั้งฉ่าย รสชาติหวานมันหอมกลิ่นน้ำมันหอยชวนชิมมากๆ ส่วนจานที่สองตามมาติดๆ ไม่ผิดหวังจริงๆ ครับ ตั้งเป็นจานทีเด็ดของร้านได้อีกจานเลย ซี่โครงอ่อนตุ๋นจนนุ่มมาก กลิ่นหอม หวาน มัน ด้วยสูตรพิเศษของทางร้าน กับข้าวสวยร้อนๆ แนะนำเลยครับ เค้ามี 3 สาขาใกล้ที่ไหนก็แวะไปได้ไม่ผิดหวังครับ อ้อ ผมแปะ web ร้านไว้ให้นะครับเผื่อใครอยากเข้าไปดูข้อมูลกันก่อน www.samsenvilla.com


        " ใครจะไปคิดว่าเจ้าแกงมัสมั่น ที่แสนจะคุ้นเคย จะกลายเป็นเมนูอาหารอร่อยที่สุดอันดับ 1 ของโลก จากการจัดอันดับของ web ซีเอ็นเอ็นโก ที่ได้รับการโหวตจากมนุษยชาติจำนวนมาก"


       2 ภาพนี้ถ่ายภาพไม่ยากครับ ภาพแรกใช้แฟลชแยกให้แสงเฉียงด้านหลัง ภาพที่ 2 โต๊ะสีดำมีกระจกผมเลือกใช้ filter PL ตัดแสงให้เหมือน BG ดำ ส่วนภาพแรกไม่ได้ใช้ PL เลยมีแสงสะท้อนที่กระจกก็ดูมีมิติเพิ่มมาอีกหน่อย แล้วก็ถ่ายไปตามธรรมดาด้วย Sony nex7 Lens SEL 18-55ครับ

ภาพ นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง

Read more

บัคฮา ดินแดนแห่งดอกไม้หลากสี



          การมาเที่ยวเวียดนามเหนือครั้งนี้หากไม่ได้เดินทางมาชมตลาดนัดวันอาทิตย์ของชาวม้งที่บัคฮา กับไปซาปาก็คงจะถือว่ามาไม่ถึงเวียดนามเหนือเป็นแน่ เราต้องไปให้ถึงสถานีรถไฟประมาณสองทุ่มเพื่อรอเวลารอไฟออก ซึ่งถือว่ามีเวลาค่อนข้างน้อยในการเดินทางเพราะกว่าเราจะกลับมาจากแทมก็อกก็เกือบหนึ่งทุ่มเข้าไปแล้ว เราเลยต้องรีบกันพอสมควรเพราะการเดินทางในฮานอยก็คาดเดายากเพราะรถค่อนข้างเยอะมากในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อผมมาถึงสถานีรถไฟ แรกเห็นนึกว่าเรามาหัวลำโพงบ้านเราสมัยยังไม่ปรับปรุง รถไฟก็ยังเป็นแบบอนุรักษ์นิยมอยู่ ไม่เหมือนญี่ปุ่น หรือฝรั่งเศสที่รถไฟเค้าเร่งความเร็วแข่งกับเสียงกันแล้ว แต่โซนเอเซียแบบบ้านเราก็ดีอย่างคือไม่รู้จะรีบร้อนไปไหน แค่มาให้ถึงตรงเวลาพวกเราก็ดีใจแล้วครับ 
          ผมเดินทางมาบัคฮาด้วยรถไฟขบวนฟานซีปัน ซึ่งถือว่าเป็นรถไฟชั้น 1 ของที่นี่ ด้วยเตียงนอน 4 เตียงต่อ 1 ห้องค่อนข้างสบายทีเดียวแม้ว่าขนาดเตียงจะเล็กกว่าของบ้านเรา พวกเราจองไว้ทั้งหมด 3 ห้องติดกันพอจัดของเสร็จทุกคนก็มารวมกันอยู่ห้องเดียว ไม่รู้เข้าไปอยู่กันได้ยังไงห้องนิดเดียวแล้วแต่ละคนก็ตัวไม่ใช่เล็กกว่าจะแยกย้ายกันไปนอนก็ค่อนคืนเข้าไปแล้ว ในห้องมีน้ำขวด มีกล้วยหอม แล้วก็ขนมอีกนิดหน่อย นี่เป็นหนึ่งในไม่กี่ที่ของเวียดนามที่มีบริการน้ำดื่มไม่เหมือนที่บ้านเราแทบทุกแห่งจะมีน้ำดื่มบริการ ทั้งๆ ที่เวียดนามมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์มาก แต่ต้องซื้อน้ำกินตลอดเลย ใครมาเที่ยวเวียดนามก็ขอให้เตรียมเรื่องน้ำติดตัวไว้ตลอดเวลานะครับ เพราะบางที่หาน้ำยากอยู่เหมือนกัน เคยถามราคาเตียงล่างเตียงบนว่าเตียงไหนแพงกว่ากันเพราะจำได้ว่าเคยมีคนบอกเตียงล่างจะแพงกว่าเตียงบน กลายเป็นว่าเค้าบอกเตียงล่างเตียงบนราคาเท่ากัน แต่ถ้าเป็นฤดูร้อนคนจะแย่งเตียงบนเพราะใกล้แอร์ แต่ถ้าเป็นหน้าหนาวอย่างตอนนี้จะแย่งเตียงล่างกันเพราะไกลแอร์ อ้าวของผมได้เตียงบนกว่าจะรู้ตัวช่วงหัวรุ่งก็หนาวหน้าดูเลยครับ

          เรามาถึงสถานีเลาไกประมาณตีห้ากว่า ๆ อากาศตอนนี้หนาวมาก ๆ หนาวกว่าภาคเหนือบ้านเราพอสมควร อาจเป็นเพราะอยู่ติดกับชายแดนประเทศจีนก็เป็นได้ ต่างคนต่างรีบเดินเพื่อเข้าไปในสถานีก่อน ที่นี่จะมีรถรับจ้าง บริษัททัวร์มาโฆษณาชวนเชื่ออยู่มากมายเต็มไปหมด การมาเที่ยวเวียดนามเราต้องหาข้อมูลกันมาพอสมควรไม่งั้นจะโดนโก่งราคาแบบไม่น่าเชื่อ เช่นค่ารถจริง ๆ คนละ 25,000 ด่อง แต่อาจโดนโก่งราคาบอกคนละ 130,000 ด่องได้อย่างหน้าตาเฉย ส่วนมากที่ไม่ซื่อตรงจะเป็นพวกวัยรุ่น แต่คนสูงอายุจะไม่เหมือนกันครับออกจะดีมากด้วยซ้ำไป แบบนี้นี่เองที่ใครมาเวียดนามแล้วให้ต่อราคาลงอย่างน้อย 50%  หลาย ๆ ครั้งที่ผมต่อ 70 %แล้วก็ยังได้ แต่ต้องคอยดูทิศทางลมดี ๆ นะครับระวังเจอแม่ค้าพ่อค้าบันดาลโทสะจะพาลหมดสนุกกันได้

เทือกเขาฟานซ๊ปัน

          เมืองเลาไกเป็นเมืองหน้าด่านติดกับชายแดนจีน เราสามารถข้ามด่านไปเดินเล่นที่เมืองจีนได้ แต่คราวนี้เราไม่มีเวลาขนาดนั้น ก็เลยได้แค่ไปเยี่ยมที่ด่านเท่านั้น ฝั่งจีนจะเป็นเมืองเหอกู่ที่เราสามารถนั่งรถไฟต่อไปได้ถึงคุนหมิง อีกประมาณ 540 กม. แต่ต้องทำวีซ่าก่อน เมืองเลาไกไม่มีสถาปัตยกรรมสวย ๆ หลงเหลืออยู่นักเพราะเป็นเมืองที่โดนจีนเข้ามาทำสงครามยึดครอง โดยเฉพาะในช่วงปี 1979 ที่จีนบุกเข้ามาปราบเสียจนราบคาบ แต่ต่อมาเมื่อขับจีนออกไปได้แล้ว รัฐบาลเวียดนามในขณะนั้นก็ไม่ได้คิดที่จะอนุรักษ์ความเป็นศิลปะเวียดนามเอาไว้ สิ่งก่อสร้างที่เลาไกจึงดูเหมือนกล่องคอนกรีตสี่เหลี่ยม กับเป็นเมืองที่มีต้นไม้น้อยมากเมื่อเทียบกับหลายๆ เมืองในเวียดนาม แต่ที่เลาไกนี่เราไม่ได้แวะเที่ยวอะไร เราใช้เป็นแค่ทางผ่านเพื่อไปบักฮา กับซาปาเท่านั้น


           เมืองบัคฮาอยู่ห่างจากเลาไกแค่ประมาณ 27 กม. เป็นเมืองเล็ก ๆ แต่ความโด่งดังของที่นี่กลับไม่แพ้เมืองใหญ่ ๆ ยิ่งถ้าเป็นคนที่สนใจเรื่องชนเผ่า ผ้าทอ หรือวิถีชีวิตที่เรียบง่ายดูท่าจะไม่น่าพลาดเมืองบักฮา ที่นี่มีชนเผ่ามากมายสาธยายไม่หมด  ทั้งไต เย้า ผู้ลาว จีน เวียดนาม ไลชิ เลอเหรอ ปกาเก่อญอ ถู่ลาว และชนกลุ่มน้อยอีกมากมาย ที่สำคัญที่สุดและเป็นสีสันจนเมืองบัคฮาขึ้นชื่อไปทั่วโลกคือ ม้ง ด้วยสีสันการแต่งกายที่ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมของตนเองได้เป็นอย่างดีจนได้รับสมญานามว่า ดินแดนแห่งดอกไม้หลากสี หรือ The Flower Hmong of Sapa ก็ลองชมภาพดูละกันนะครับว่าสีสันพวกเค้าสวยงามขนาดไหน

          เราเดินทางมาถึงที่บัคฮาประมาณเกือบสิบโมงแม้ว่าระยะทางจากเลาไกมาก็ไม่กี่สิบกิโล แต่คนขับรถรับจ้างที่เรานั่งมาด้วยพี่ท่านขับวนเมืองเลาไกไม่รู้กี่รอบจนคนเต็มรถ แล้วค่อยไต่เขาขึ้นมาที่บักฮาโดยใช้เวลาแค่ไม่ถึงชั่วโมง เราก็นึกว่าใจดีพาชมเมือง ที่พักในบักฮานี่ถ้าไม่ได้จองผ่านทัวร์ก็แนะนำให้เดินไปเลือกได้เลยนะครับ มีหลายราคามาก ๆ ผมเลือกได้ใกล้กับตลาดวันอาทิตย์ซึ่งสะอาด และถูกมากคือแค่สองร้อยกว่าบาท แถมใกล้ตลาดไม่ต้องห่วงเรื่องอดอยากอีกด้วย เราใช้เวลาที่เหลือเดินเล่นในเมืองบักฮา วิถีชีวิตที่นี่ยังคงน่ารักอยู่มาก ยังใช้เกวียนเทียมม้าเทียมล่อกันอยู่เหมือนในอดีต อาหารการกินก็มีมากมายทั้งแบบสำหรับคอยต้อนรับนักท่องเที่ยว แต่ไม่ใช่สำหรับกลุ่มเราอยู่แล้ว เพราะเราชอบที่จะแสวงหาอาหารท้องถิ่น ซึ่งก็สมใจหวังทุกมื้อ เพราะเวลาเราเดินเล่นในตลาดก็จะดูว่าร้านไหนที่ชาวบ้านเขาทานกันเยอะ ๆ เราก็จะร่วมแจมกับเค้าด้วยเลย เพราะแน่ใจว่าต้องอร่อยชัวร์ 

          ในตัวเมืองบักฮาค่อนข้างสงบเรียบร้อยมาก แตกต่างจากฮานอยอย่างสิ้นเชิง ผมเดินเล่นไปกับน้องตี๋สองคนเหมือนเป็นตัวประหลาดเลยครับ แต่เป็นตัวประหลาดที่เค้าอยากเข้ามารู้จัก โดยเฉพาะเด็กๆ ที่แสนซนทั้งหลาย เราเดินผ่านสนามกีฬากลางเมืองวันนี้เค้ามาสอบใบขับขี่กันด้วย ผมยืนดูแล้วคิดว่าทำไมสอบใบขับขี่บ้านเค้าดูเหมือนไม่ยากเหมือนบ้านเราเลย คือให้ขับวนเป็นวงกลมไปเรื่อย ๆ ทั้งกลุ่มประมาณ 40 คันพอเสร็จแล้วก็ไปเซ็นชื่อก่อนกลับบ้าน ไม่มีไฟเขียวไฟแดง ไม่มีสัญญาณอะไรทั้งนั้น ว่าง ๆ ก็มีคนขี่ม้าผ่านไปมาดูเป็นเมืองที่แสนเรียบง่ายดีจริง ๆ วันนี้ทั้งวันเราไม่เห็นแสงอาทิตย์เลยมีแต่เมฆกะหมอกปกคลุมท้องฟ้าอากาศก็เย็นจับใจดีแท้ การเดินทางเพื่อมาชมตลาดนัดวันอาทิตย์นักท่องเที่ยวส่วนมากมักจะออกจากฮานอยวันเสาร์กลางคืนเพื่อให้มาทันตอนเช้า ซึ่งก็แล้วแต่สะดวก แต่พวกเราอยากมาเดินเล่นในตัวเมืองก่อน และไม่อยากไปแย่งรถไฟกันซึ่งถ้าพลาดแล้วต้องรอกันอีกอาทิตย์เลยทีเดียว 

          และแล้วก็มาถึงเช้าวันอาทิตย์ที่เรารอคอย ตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้นแสงสลัวขมุกขมัวไปด้วยควันไฟที่ชาวบ้านมารอขายของจุดเตาเตรียมค้าขายแต่เช้าตรู่ รถมอเตอร์ไซด์ขนหมูที่ชำแหละแล้ว วิ่งผ่านไปมาคันแล้วคันเล่า ช่างดูคึกคักแตกต่างจากเมื่อวานที่แสนจะเงียบเหงา ร้านเฝอเริ่มนึ่งแป้งเพื่อทำเส้นแบบสด ๆ พอเห็นผมยกกล้องก็ส่งยิ้มหวานมาให้พวกเราเห็นแล้วทนไม่ได้เลยต้องขอรองท้องกันก่อนคนละชามสองชาม เฝอที่นี่ก็อร่อยไม่แพ้ฮานอยเหมือนกัน ต่างแต่เค้าใส่เส้นมากกว่าเยอะเลย คงเป็นเพราะทำเส้นเองด้วยมั้งครับทำให้ไม่ต้องไปซื้อหาที่อื่นให้เปลืองต้นทุน

          ตลาดนัดที่บักฮาเหมือนเป็นศูนย์รวมของพวกชาวเขาที่อยู่หมู่บ้านใกล้เคียง หลายคนนำสินค้าของตนมาขาย หรือแลกเปลี่ยน และมาซื้อหาสิ่งของเครื่องใช้ของกินต่าง ๆ ก่อนแยกย้ายกันกลับไปหมู่บ้านตนเอง แต่สำหรับนักท่องเที่ยวแล้วการเดินทางไปยังตลาดบักฮาส่วนใหญ่ก็คือ ต้องการไปชมวิถีชีวิตของชนเผ่า  โดยเฉพาะเรื่องการแต่งกาย ชาวเขาแต่ละเผ่าล้วนจะให้ความสำคัญของการมาตลาดในวันอาทิตย์กันมาก เนื่องจากตลาดแห่งนี้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ และรายได้ ที่ทุกคนจะได้นำสินค้าของตนมาขาย หรือแลกเปลี่ยน นำของอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับตนเอง และครอบครัวกลับไป ที่บักฮานี้ฝรั่งเขียนถึงว่าแม้เป็นเมืองเล็ก ๆ แต่เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กับซาปาเลยทีเดียว เรียกว่าขึ้นมาสุดทางรถไฟสายเหนือแล้วก็ไม่ได้มีแค่ซาปาที่เดียวนะ แต่ยังมีบักฮาอีกด้วย


          เราเดินเล่นถ่ายภาพกันไปเรื่อย ๆ เรื่องถ่ายภาพนี่ต้องขอบอกกันก่อนนะครับว่า เราต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย ชาวเขาที่นี่จะไม่ชอบให้ถ่ายภาพ โดยเฉพาะคนมีอายุ เคยมีคนบอกว่าที่นี่ถ้าถูกถ่ายภาพจะโดนดูดวิญญาณก็ไม่รู้จริงรึเปล่า แต่ผมคิดว่าเค้าคงไม่ชอบที่ให้นักท่องเที่ยวมองเค้าว่าเป็นของแปลก ทั้ง ๆ ที่พวกเค้าก็อยู่กันมาตั้งนานตลาดแห่งนี้ก็มาก่อนที่พวกนักท่องเที่ยวจะเข้ามาซะอีก ผมเห็นนักท่องเที่ยวบางคนไม่ค่อยมีมารยาทรุมเข้าไปถ่ายภาพเหมือนเป็น Human Zoo ซึ่งตัวผมเองก็ไม่ชอบ ผมคิดว่าการถ่ายภาพบุคคลควรขอก่อน หรือถ้ายกกล้องแล้วเค้าไม่มีอาการปิดหน้า ไล่ หรือรังเกียจก็ไม่มีปัญหา ซึ่งบางครั้งผมเลือกที่จะยืนอยู่ไกล ๆ โดยไม่รบกวนเค้าจะดีกว่า 

          กู๋ลู้ก๊อ – ฉันรักเธอ กู๋ชิเป๊า – ฉันไม่รู้ กู๋ชิมั่วเงี่ย – ฉันไม่มีเงิน กู๋ไห่ลื้อม้งติ๊ติ๊ - ฉันพูดภาษาม้งได้นิดหน่อย


          ภาษาม้งเล็กๆ น้อยๆ ที่ผมเคยรู้มาบ้างตอนไปถ่ายภาพชนเผ่าในบ้านเรา บางครั้งก็ช่วยลดช่องว่างให้เราได้เห็นรอยยิ้มของพวกเค้าได้ แม้ว่าตอนแรกจะไม่แน่ใจว่าเค้าพูดเหมือนกันรึเปล่าเพราะจริงๆ แล้วผมก็รู้อยู่แค่นี้แหละ พูดไปพูดมาไม่กี่คำพอเค้าตอบมาเราก็ได้แต่ยิ้มอย่างเดียว ชาวม้งที่นี่จะนิยมใส่ฟันทองที่ทำด้วยทองแดง เพื่อบอกว่าฉันฐานะดีนะ พวกเราเดินถ่ายภาพกันเรื่อยเปื่อย บางคนก็เริ่มช็อปปิ้ง สินค้าที่นี่มีหลากหลายมาก มีชุดชาวเขามาขายด้วยลวดลายละเอียดประณีตมักทำจากผ้าหนา ๆ แล้วร้อยลูกปัด หรือปักลายลงไป มีเหล้าต้มขายเป็นแกลอนใหญ่ ๆ ทั่วไปที่นี่น่าจะไม่ผิดกฎหมายเหมือนบ้านเรา ผมเดินผ่านก็เห็นป้าชาวม้ง แกกวักมือเรียกแล้วยกให้ 2 จอกเลยรู้ว่าเหล้าขาวที่นี่แรงมาก ๆ แต่หอมอร่อย ใจอยากจะนั่งต่อ แต่กลัวจะเดินไม่ตรงเดี๋ยวจะอดไปซาปากันพอดี ที่สุดตลาดจะเป็นเนินสูงด้านบนจะขายพวกสัตว์ต่าง ๆ ทั้งหมู วัว ควาย แต่ที่ทำให้สาว ๆ ในทีมหลายคนเบือนหน้าหนีไม่ยอมถ่ายภาพก็คงจะเป็นเจ้าหมาน้อย กับบรรดาแมวเด็ก ๆ ทั้งหลายที่ส่งเสียงร้องกันระงม ที่นี่เค้ากินเนื้อหมากับแมวด้วย ซึ่งสำหรับพวกเราแล้วค่อนข้างทรมานจิตใจมากทีเดียว เราเดินกันอยู่บนนี้ไม่นานเพราะจิตใจหดหู่ แม้จะไม่ดุเดือดเท่าที่เมืองลารัฐฉานประเทศพม่าก็ตาม


          หมู่บ้านรอบ ๆ บักฮามีอีกหลายแห่งที่มีตลาดนัดเหมือนกัน และระยะทางไม่ไกลกันมากคือ ตลาดเกินเคา ซึ่งห่างจากบักฮาไปเพียง 18 กม.เปิดขายในวันเสาร์ และที่หมู่บ้านก๊อกลี มีตลาดนัดทุกวันอังคาร เสียดายแต่เวลาคราวนี้มีน้อยเกินไปเลยไม่ได้ไปเยี่ยมหมู่บ้านอื่น ๆ เลย ที่ตลาดนัดบักฮามีถนนเส้นหลังวัดที่ยังมีชาวเขาเอาฟืนมาขายเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะหน้าหนาว เพราะที่นี่อากาศเย็นจับใจจริง ๆ เวลาผ่านไปเร็วมากเผลอไม่นานก็เกือบสิบเอ็ดโมงเช้าแล้ว เราก็ต้องรีบไปเก็บของเพื่อเดินทางต่อไปยังซาปา ผมอยากไปดูนักว่าที่เค้าว่าสวยนั้นสวยขนาดไหนถึงกับตั้งให้ว่าเป็น “สวิสเซอร์แลนด์แห่งเวียดนาม”




เรื่อง / ภาพ : นันทพัฒน์  สุรสิงห์โตทอง



Bac Ha Market, Vietnam
Location: Bac Ha Market is in Bac Ha District, Lao Cai Province; about 80km from downtown Sapa.
Characteristics: It is a trading centre and meeting place for couples, friends, and relatives every Sunday.
Every Sunday, Bac Ha hosts the biggest fair near the mountainous highlands and the Chinese border. It is a trading centre and meeting place for couples, friends, and relatives, and it is a typical weekly activity for the H’Mong and other minority groups living in the locality. Some walk several hours for the weekly opportunity to trade and barter food, animals, clothes and household goods. Local products are carried on horseback.

At the fair, adventurous gastronomes can try thang co blood porridge, a popular dish of the H’Mong and other local people.


Read more