About

กะท่าง


      ตามริมน้ำใสเย็น ในป่าลึก หรือบนดอยสูง  หากเราใส่ใจในรายละเอียดซักนิด เจ้าตัวน้อยที่น่ารักอาจแอบมองเราอยู่ก็เป็นได้ ซาลามานเดอร์ หรือกะท่าง ตัวน้อยที่ผมชอบมองหาเวลาที่เดินทางไปในที่ต่างๆ ความสมบูรณ์ และบริสุทธิ์ของพื้นที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าเจ้าตัวน้อยนี่จะได้สบตากันบ้างรึเปล่า เพราะฉะนั้นครั้งใดที่ผมได้มีโอกาสพบเจอเค้านั่นคือสิ่งที่บ่งบอกสภาพพื้นที่ได้เป็นอย่างดี


       กะท่าง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tylototriton verrucosus  หรือที่ภาษาท้องถิ่นเรียกว่าจักกิ้มน้ำ หรือจิ้งจกน้ำ กะท่างเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่จัดอยู่ในวงศ์ Salamandridae ในประเทศไทยมีชนิดเดียว กะท่างชนิดนี้มีลำตัวสีน้ำตาลยาว 7-8 เซนติเมตร หางยาว 7 เซนติเมตร นิ้วเท้าหน้ามี 4 นิ้ว และนิ้วเท้าหลังมี 5 นิ้ว พบอาศัยอยู่ตามลำธารน้ำไหลบนภูเขาสูงในระดับตั้งแต่ 1,500-2,000 เมตร เช่น ดอยเชียงดาว ดอยเวียงผา ดอยปุย ดอยอินทนนท์ และดอยอ่างขาง กะท่างมีเขตแพร่กระจายกว้างจากประเทศสิกขิม จีนตอนใต้ พม่า ลาว และไทย

        ในเวลากลางวัน กะท่างจะซุกตัวนอนอยู่ตามใต้ขอนไม้ กองกิ่งไม้ ใบไม้ หรือใต้ก้อนหินใกล้ลำธาร ในเวลากลางคืน หรือฝนตกจึงจะออกหากิน เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ในราวเดือนกันยายนจนถึงตุลาคมจะลงไปอยู่ริมฝั่งใกล้ลำธาร ตัวเมียวางไข่ขนาดใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 6-10 มิลลิเมตร ตามกอพืชน้ำลูกอ่อนที่ฟักออกมาลักษณะเหมือนพ่อแม่ แต่มีพู่เหงือกเป็นฝอยสำหรับหายใจ 3 คู่ติดอยู่ด้านข้างส่วนหัว ตัวอ่อนกินสัตว์น้ำอื่นๆ เช่นลูกอ๊อด แมลงน้ำ ในขณะที่ตัวเต็มวัยกินแมลง และสัตว์เล็กอื่นๆ

        กะท่างได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่การทำลายป่าต้นน้ำลำธาร และการล่ากะท่างมาส่งขายเป็นสัตว์เลี้ยง และสัตว์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ ทำให้กะท่างเริ่มหาได้ยากขึ้นทุกที จนมีจำนวนลดลงอย่างมาก

ส่วนมากจะไม่นิยมเรียกว่า หมาน้ำ เพราะความหมายกว้างมากซึ่งอาจหมายถึง 
        -  กะท่าง ทุกสปีชีส์* ในจีนัส Ambystoma ( เพราะมีเหงือกเหมือนแผงคอสุนัข ) 
        -  จงโคร่ง หรือ กง หรือ คางคกยักษ์ หรือ Bufo asper 
        -  กบว้าก หรือ Rana glandulosa

เก็บภาพได้ที่ : อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา
ภาพ : นันทพัฒน์  สุรสิงห์โตทอง

2 Responses so far.

  1. เพิ่งเคยเห็นจากรายการทีวีครับ

  2. เพิ่งเคยเห็นจากรายการทีวีครับ

Leave a Reply