About

เส้นทางเดินทัพสมเด็จพระนเรศวร



        “ปี ๒๑๔๘ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงพบว่าพระเจ้าอังวะเริ่มสั่งสมกำลังที่ภาคเหนือของพม่า และเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ จากการได้หัวเมืองไทใหญ่แถบลุ่มน้ำสาละวินไปสวามิภักดิ์ เป้าหมายของพระองค์ก็เปลี่ยนจากตองอูมาเป็นอังวะทันที ด้วยทรงดำริว่าในระยะยาวหากปล่อยให้อังวะเป็นปึกแผ่นมากไปกว่านี้ อังวะจะเป็นอันตรายแก่อยุธยายิ่งไปกว่าตองอู”

        ปีพุทธศักราช 2148 เป็นช่วงเวลาที่รัฐไทยภายใต้การปกครองของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ผู้ชาญศึก ครอบครองและขยายขอบขัณฑสีมาขอบอาณาจักรสยามออกไปอย่างกว้างขวาง นับเป็นช่วงเวลาที่สงบสุขและเป็นปีสุดท้ายในรัชกาล ก่อนที่มหาราชพระองค์นี้ จะเสด็จสู่สวรรคาลัยอย่างไม่มีวันกลับ ระหว่างการกรีฑาทัพผ่านหัวเมืองเหนือเพื่อการราชการสงคราม ณ แผ่นดินพม่า 

        “ครั้นเสด็จถึงเมืองเชียงใหม่ก็หยุดพักจัดกระบวนทัพอยู่หนึ่งเดือน แล้วให้กองทัพสมเด็จพระเอกาทศรถยกไปทางเมืองฝาง ส่วนกองทัพหลวงยกไปทางเมืองหาง”

        เมื่อสมเด็จพระนเรศวร ได้ยกทัพมาถึงเมืองเชียงใหม่ ก็ได้พักทัพเพื่อเตรียมความพร้อมและเสบียงเป็นเวลาหนึ่งเดือน เสร็จแล้วจึงสั่งให้ พระเอกาทศรถนำทัพส่วนหนึ่งล่วงหน้าไปยังเมืองฝาง เพื่อทำการเกณฑ์คนเพื่อเป็นกำลังรบและเตรียมเสบียงให้แก่ทัพหลวง ซึ่งจะยกไปตั้งรอในเขตเมืองหาง ซึ่งน่าจะสันนิษฐานว่าอยู่ในเขตของรัฐฉาน ประเทศพม่า เพื่อรอเสบียงสำหรับการเดินทัพไปตีกรุงอังวะ ประเทศพม่า

        จากหลักฐานทางโบราณคดี พงศาวดารทั้งของไทยและของพม่า เอกสารโบราณที่จดบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเส้นทางที่พระนเรศวรเสด็จยกทัพไปตีพม่านั้น นักวิชาได้สันนิษฐานว่าทัพไทยอาจจะใช้เส้นทาง2เส้น คือ เส้นทางเลียบตามแม่น้ำปิงผ่านอำเภอเชียงดาวไปสู่ช่องกิ่วผาวอก เข้าสู่เขตแดนไทใหญ่แล้วเดินทางต่อไปยังกรุงอังวะ และอีกเส้นทางหนึ่งคือ เดินทางไปท่ามกลางภูเขาสูงอาศัยที่ราบริมสายน้ำแม่แตง สู่เมืองกื๊ด(ต.กื๊ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่) เมืองคอง(ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว) และเมืองแหง(อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่) ผ่านช่องหลักแต่ง ทะลุไปเมืองเต๊าะ แล้วก็จะถึงบริเวณสบจ๊อด (บริเวณที่แม่น้ำจ๊อดไหลลงแม่น้ำสาละวิน) แล้วไปข้ามฝั่งที่ท่าผา ไปเมืองปั่น เมืองนาย แล้วก็ไปเมืองลางเคอ จากเมืองลางเคอก็ทะลุสู่เมืองอังวะ อันเป็นปลายทางของการเดินทัพ ซึ่งเส้นทางที่สอง ที่เป็นเส้นทางที่ต้องเดินเลาะไปตามลำน้ำแม่แตงนั้น มีความเป็นไปได้มากกว่า เพราะเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางติดต่อและทำการค้าขายของคนในพื้นที่ 


        “ครั้นเสด็จถึงเมืองหางแล้วก็ให้ตั้งค่ายหลวงประทับอยู่ที่ทุ่งแก้ว สมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวรเป็นระลอกขึ้นที่พระพักตร์ แล้วกลายเป็นบาดทะพิษพระอาการหนัก จึงโปรดให้ข้าหลวงรีบไปเชิญเสด็จสมเด็จพระเอกาทศรถมาเฝ้า สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จฯ มาถึงได้ 3 วัน สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จสวรรคต เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148”

       แต่ในท้ายที่สุด ความตั้งใจที่จะนำทัพไปตีกรุงอังวะ ก็ต้องล้มเหลวเสียก่อน อันเนื่องมาจากเหตุประชวร ที่ทำให้พระองค์ถึงกับสวรรคตในเวลาต่อมาอีกเพียง3วัน เหลือไว้เพียงประวัติศาสตร์ของวีรกษัตริย์มหาราช ให้ไว้แก่คนรุ่นหลังได้ศึกษา และทำความเข้าใจ ในความมุ่งมั่น ความกล้าหาญและความเด็ดเดี่ยวของบรรพชนรุ่นก่อน ให้ซาบซึ้ง ในพระนามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของคนไทย ไปอีกนานเท่านาน

      ข้อมูลประกอบการเขียน
-มหาราชวงษ์ พงศาวดารพม่า (มหายาซะวิน)
-พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหมอบรัดเล
-ประวัติศาสตรล้านนา โดย สรัสวดี  อ๋องสกุล
-งานวิจัยเส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวร  ของ อ.ชัยยง  ไชยยศรี
-ไทยรบพม่า กรมพระยาดำรงราชานุภาพ



เรื่อง  โษฑศ  พลนาวี
ภาพ  นันทพัฒน์  สุรสิงห์โตทอง

2 Responses so far.

  1. Unknown says:

    ขอขอบคุณข้อมูลนี้อย่างยิ่ง

  2. Unknown says:

    และขออนุญาตนำข้อมูลไปเผยแผ่เพื่อประโยชน์แด่ผู้ที่รักและเทิดทูนในพระองค์ท่าน จักเป็นพระคุณยิ่ง

Leave a Reply