About

ผางประทีป พุทธบูชาในแบบล้านนา


วันอาสาฬหบูชา วัดเกตการาม จ.เชียงใหม่

          วันนี้ผมไปเวียนเทียนที่วัดเกตการาม ที่ห่างจากบ้านไปไม่ไกลนัก ปรกติผมมักจะเห็น ดอกไม้ ธูป เทียน แต่ที่วัดเกตการามนี้เค้าใช้ผางประทีป หรือ ผางประทีส ที่แปลว่าแสงสว่างแทนเทียน ผมดูแล้วก็น่ารักดี เพราะผางประทีปเองรูปทรงคล้ายถ้วยเล็กๆ จึงไม่รับลมมากนัก และเมื่อจะวางก็ไม่มีน้ำตาเทียนเหมือนเทียนแบบเป็นเล่มทั่วไป พอกลับมาก็เลยหาข้อมูลเกี่ยวกับผางประทีปไปพบตำนานของทางล้านนาน่าสนใจเลยเอามาฝากกันครับ

          ชาวล้านนานิยมจุดผางประทีปเป็นพุทธบูชา โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลยี่เป็ง หรือประเพณีลอยกระทง เห็นว่าสืบเนื่องมาตั้งแต่ตำนานพระทธเจ้าห้าพระองค์ ได้แก่ พระกกุสันธะ พระโนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคดมหรือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน และพระศรีอริยะเมตไตร ตามตำนานเชื่อว่าพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์นั้นเกิดจากแม่กาเผือกวันหนึ่งแม่กาออกไปหาอาหารได้เกิดพายุทำให้ไข่ทั้งห้าฟองพลัดตกจากรังลงไปในแม่น้ำ และมีแม่ไก่ นาค เต่า โค และราชสีห์เก็บไปเลี้ยง จนไข่ฟักตัวออกมาเป็นมนุษย์เพศชาย และต่อมาได้บวชเป็นฤาษี เมื่อมาพบกันจึงได้สงสัยว่าใครเป็นแม่ที่แท้จริง จึงร่วมอธิษฐานขอให้ได้พบแม่ที่แท้จริง ทำให้พกาพรหมผู้เป็นแม่ได้แปลงกายเป็นกาเผือกลงมาเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตให้ฤาษีทั้งห้าฟัง และบอกว่าถ้าคิดถึงแม่็ให้นำด้ายดิบมาพันจุดเป็นประทีปในวันยี่เป็ง และด้วยอานิสสงส์จากการถวายผางประทีปจึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์

          ทำบุญคราวหน้าอยากให้ลองจุดผางประทีปเป็นพุทธบูชากันดูนะครับ สำหรับทางภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่นั้นหาซื้อได้ไม่ยาก และราคาไม่แพงเลย ผมมักจะมีติดบ้านไว้เสมอเผื่อเอาไว้จุดในวันสำคัญต่างๆ หรือวันไหนนึกครึ้มอกครึ้มใจก็เอามาจุดประดับบ้านให้แสงวิบๆ วับๆ โรแมนติกไปอีกแบบครับ

          ภาพนี้ผมเลือกหยิบกล้องเล็กไปใช้ Sony nex7 Lens SEL 55-210 เลือกใช้ช่วง Tele เพื่อตัดสิ่งรบกวนรอบข้างออก ตั้งกล้องให้ under เล็กน้อย สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับภาพนี้ก็คือความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำมาก เนื่องจากรูรับแสงของเลนส์ค่อนข้างแคบคือ f 6.3 แต่เลนส์ตัวนี้ก็มีระบบกันสั่นที่สามารถหวังผลได้ดีในระดับหนึ่ง

ภาพ นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง

Leave a Reply